PHAYANCHANA
วรรณรูป
วรรณรูป (Concrete Poetry) หรือบางครั้งเรียกว่า บทกวีภาพคือ
รูปแบบที่ผสมผสานงานทัศนศิลป์ (ภาพ) เข้ากับวรรณศิลป์ (ภาษา) ที่สื่อสารความหมายจากทั้งภาพ และความหมายจากตัวหนังสือไปพร้อมๆ กัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบกันของตัวหนังสือ
จนกลายเป็นภาพที่ให้ความหมายที่เชื่อมโยงกับตัวหนังสือ หรือเกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้นมา รูปแบบของวรรณรูปที่คนไทยเรารู้จักกันดีก็คือ ผลงาน “อย่าเห็นแก่ตัว” (2518) ที่เป็นตัวอักษรไทยประกอบขึ้นเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินวรรณรูปชาวไทย ผู้มีนามปากกาว่า ‘ทยาลุ’ หรือ ในชื่อจริงว่า เจริญ กุลสุวรรณ หรือที่พบเห็นในผลงานบทกวีรูปธรรมของ จ่าง แซ่ตั้ง สติ๊กเกอร์ “อย่าเห็นแก่ตัว” เป็นผลงานที่ติดอยู่ในหัวมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก... ย้อนเวลากลับไป ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นตัวอักษรไทยที่สามารถกลายเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิได้ ก็รู้สึกประทับใจ และคิดว่า “ตัวอักษรเป็นอะไรแบบนี้ได้ด้วยเหรอ.!?” รู้สึกชอบตั้ง แต่ครั้งแรกที่ได้เห็น มันเป็นการเปิดโลกศิลปะเลยก็ว่าได้ในตอนนั้นและนั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นที่เรียกว่า“แรงบันดาลใจ” ซึ่งยังคงอยู่จนถึง ปัจจุบัน ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นถูกจดจำ และสานต่อเรื่องราวจากประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี
“คำที่เกิดจากรูป หรือ รูปที่เกิดจากคำ”
ครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากโปรเจกต์แรกคือ พยัญชนะไทย 44 ตัว ที่เพิ่มเติมก็คือ สระ และ วรรณยุกต์จากตัวอักษรต่างๆ ประกอบขึ้นกลายเป็น “พยางค์” หรือคำ การผสมผสานที่เข้ากันได้อย่างประณีต รวมทั้งการจัดช่องไฟระหว่างตัวอักษรให้เกิดความสวยงาม และแสดงรูปทรงต่างๆ เช่น รูปทรงเรขาคณิต รูปทรงอิสระ และรูปทรงธรรมชาติ หรือรูปทรงวัตถุ ให้สัมพันธ์กัน แต่เมื่อเข้าไปมองใกล้ๆ ถึงได้รู้ว่ามันเป็นภาพที่ประกอบขึ้นจากตัวอักษร การนำคำมาสร้างให้เกิดเป็นรูปภาพ ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ทางภาษาไทย ผนวกกับความสามารถทางการออกแบบเพื่อให้ผลงานที่ออกมาสะดุดตา อ่านแล้วรู้สึกประทับใจมีคุณค่า แสดงถึงวัฒนธรรมอันแข็งแกร่งของชาติทำให้กำแพงกั้นระหว่างความต่างของภาษาหายไป คงเหลือเพียง
นัยยะความหมายของภาษา สุนทรียะของงานออกแบบ และความน่าสนใจของรูปอักษร ผลงานวรรณรูปเลือกใช้เทคนิคในการออกแบบที่ต่างกันในแต่ละชุด แบ่งเป็นทั้งหมด 5 ชุด 44 ผลงาน จัดพิมพ์ขึ้นในรูปแบบ โปสการ์ด, การ์ดอวยพร, โปสเตอร์, และ สมุดโน้ต