สถานที่จัดงาน
อัพเดทและเที่ยวชมงาน
Transforming Local Crafts นิทรรศการที่พาไปสำรวจนิยามใหม่ของงานคราฟต์ไทยสุดครีเอต
“Transforming Local Crafts”นิทรรศการที่พาไปสำรวจนิยามใหม่ของงานคราฟต์ไทยสุดครีเอตจาก Central กับ 10 ผลงานคอลแลบร่วมสมัยที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างที่ทราบดีแนวคิดหลักของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2556 (Chiang Mai Design Week 2023) ครั้งนี้ คือ “Transforming Local: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต” ซึ่งไม่เพียงเจ้าภาพหลักอย่าง CEA เชียงใหม่ จะชวนผู้ประกอบการและนักออกแบบในเชียงใหม่และภาคเหนือหลากรุ่น มาร่วมเฉลิมฉลองและ transform พลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่นเท่านั้น แต่พันธมิตรหลายรายของเราต่างก็มาร่วมผนึกกำลังเพื่อครีเอตกิจกรรมหลากหลาย และเฉลิมฉลองความสร้างสรรค์ไปพร้อม ๆ กัน ดังเช่นกลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) แบรนด์ค้าปลีกชั้นนำที่เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมผลงานสร้างสรรค์จากท้องถิ่นเสมอมา ทั้งยังพยายามผลักดันให้ช่างฝีมือและนักออกแบบผสานความร่วมมือ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยไปสู่ระดับสากล ก็มาร่วมจัดโชว์เคสสุดครีเอตในเทศกาลฯ นี้กับเราด้วย “Transforming Local Crafts” คือนิทรรศการที่นำเสนอนิยามใหม่ของงานหัตถกรรมไทย โดยเซ็นทรัลชวนกลุ่มนักออกแบบชั้นแนวหน้าของบ้านเรามาคอลแลบกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตงานหัตถกรรม เพื่อสร้างสรรค์และยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย สนุกสนาน และตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ยังผสาน “ความเป็นท้องถิ่น” หรืออัตลักษณ์ดั้งเดิมเข้ากับชิ้นงานไว้ได้อย่างกลมกลืนลงตัวนิทรรศการนำเสนอ 10 ผลงานจาก 10 แบรนด์ท้องถิ่นที่ร่วมสร้างสรรค์กับนักออกแบบ เช่น Moonler แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้จามจุรีระดับพรีเมียม ที่จับมือกับ รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ สร้างสรรค์ Lounge Chair สไตล์ Mid-Century Modern สุดเท่ หรือ นายใจดี (Ninechaidee) ผู้ผลิตงานเย็บปักจากสันกำแพงที่ร่วมกับ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ออกแบบหมอนอิงที่มีคาแรกเตอร์แบบเชียงใหม่ร่วมสมัย นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์งานคราฟต์ร่วมสมัยมาร่วมจัดแสดงโชว์เคสอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ชามเริญสตูดิโอ (Charm-Learn Studio), Slowstitch, Pachana Studio, Inclay Studio, Debua ร่วมกับ อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา, เฮือนปอสา จับมือกับ {JUN} ธัญญพร จิตราภิรมย์, สะพรั่ง และ Studio Muejaนิทรรศการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ตรงข้ามลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งหลังจบเทศกาลฯ ทางกลุ่มเซ็นทรัลยังมีแผนจัดโรดโชว์ เพื่อนำเสนอคอลเล็กชันงานคราฟต์ร่วมสมัยเหล่านี้ไปยังศูนย์การค้าในเครือต่อไป และอย่าลืมว่าวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 นี้ เรามีนัดกันที่เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 มาร่วม Transforming Local และเฉลิมฉลองพลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่นไปด้วยกัน!
01 ธ.ค. BBBB
เพราะร่วมกัน จึงร่วมสมัย
“เพราะร่วมกัน จึงร่วมสมัย” ร่วมฟื้นชีวิตชีวาให้หัตถกรรมพื้นบ้านกับนิทรรศการ ‘หัตถกรรมร่วมรุ่น’ ที่ TCDC เชียงใหม่เพราะหัตถกรรมพื้นบ้านไม่ได้มีค่าแค่การเป็นข้าวของเครื่องใช้ แต่ยังเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของทั้งผู้สร้างและผู้ใช้ แต่นั่นล่ะ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านจากมรดกชุมชนอันทรงคุณค่า ภูมิปัญญาเชิงช่างพื้นบ้านก็ดูเหมือนจะค่อย ๆ เลือนหายนิทรรศการ ‘หัตถกรรมร่วมรุ่น’ (Everyday Contem) นิทรรศการจากความร่วมมือของ CEA เชียงใหม่, Japan Foundation และ MUJI คือนิทรรศการที่พยายามค้นหาทางเลือกในการฟื้นชีวิตชีวาแก่หัตถกรรมของช่างฝีมือในเชียงใหม่และภาคเหนือ ให้มีความร่วมสมัยและสอดรับไปกับวิถีชีวิตของผู้คน นิทรรศการพาไปสำรวจแนวคิดจากประเทศต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการนำศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิม มาพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อันล้ำสมัยอย่างญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนิยามใหม่ให้กับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน “มิงเก” (Mingei) หรือการเปรียบเทียบข้าวของเครื่องใช้ในยุคโชวะอย่าง “มิงกู” (Mingu) กับผลิตภัณฑ์จากแบรนด์สินค้าที่ครองใจคนทั้งโลกในปัจจุบันอย่าง “มูจิ” (Muji) ควบคู่ไปกับการจัดแสดงผลงานและแนวคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์แบบคนญี่ปุ่น นิทรรศการยังพาผู้ชมกลับสู่เชียงใหม่ ด้วยการจัดแสดงผลงานอันเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มช่างหัตถกรรมหลากแขนงตามชุมชนต่าง ๆ กับเหล่านักสร้างสรรค์คืนถิ่น (homecoming creator) ที่หอบเอามุมมองและประสบการณ์ร่วมสมัย มาร่วมสรรสร้างผลงานกับเหล่ามาสเตอร์ในงานหัตถกรรมตัวจริง มาร่วมเรียนรู้ปรัชญาหัตถกรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แบบญี่ปุ่น พร้อมกับสำรวจไอเดียอันแปลกใหม่จากการทำงานร่วมกันของนักสร้างสรรค์ต่างรุ่นกับนิทรรศการ ‘หัตถกรรมร่วมรุ่น’ หนึ่งในไฮไลต์ของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) วันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 ที่ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 TCDC เชียงใหม่ แล้วคุณจะพบว่าหัตถกรรมพื้นบ้านก็ร่วมสมัยและชิคได้!
25 พ.ย. BBBB
เมื่อ Projection Mapping ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวาให้มุมลับในเชียงใหม่ ที่คนมองข้าม
จริงอยู่ที่เชียงใหม่เต็มไปด้วยสถานที่เก๋ ๆ และวัดวาอารามสวย ๆ รอให้คุณไปชื่นชมมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน บางมุมเมืองที่ไม่ได้รับการจดจำในฐานะแลนด์มาร์ก ก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องราวอะไรสลักสำคัญเสียที่ไหน และเพราะเหตุนี้ ควบคู่ไปกับการ Transforming Local ด้วยการผสานพลังสร้างสรรค์เก่า-ใหม่ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคมนี้ เราจึงผนึกกำลังร่วมกับนักสร้างสรรค์ เฟ้นหา ‘มุมลับ’ ในย่านช้างม่อย หนึ่งในสถานที่จัดงานหลัก เพื่อใช้งาน Digital Art ไฮไลต์พื้นที่ที่หลายคนมองข้าม ให้กลับมามีชีวิตชีวาผ่าน ‘เรื่องราว’ เฉพาะตัวของพื้นที่นั้น ๆ แถมมุมลับที่ว่าก็ยังถือเป็น ‘ทางลัด’ ที่พาผู้ชมลัดเลาะชุมชนเก่าแก่ของเมือง เพื่อชมโชว์เคสต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วย่านอีกด้วย มาดูกันว่าโปรเจ็กต์ Neighborhood Mapping ได้ไฮไลต์มุมลับมุมไหนของย่าน และมีเรื่องราวที่น่าสนใจอะไรกันบ้าง 1. ซุ้มประตูโขงวัดชมพู (Pagoda Local) : Projection Mapping by Kor.Bor.Vor Visual Label คนเชียงใหม่หลายคนทราบดีว่าองค์พระธาตุหรือเจดีย์วัดชมพู (ถนนช้างม่อยเก่า) ในย่านช้างม่อย ถูกสร้างให้เป็นเจดีย์คู่แฝดกับพระธาตุดอยสุเทพ เพื่อให้คนล้านนาในอดีตสามารถสักการะพระธาตุดอยสุเทพได้โดยไม่ต้องเดินเท้าขึ้นดอย ทั้งนี้ อีกหนึ่งโบราณสถานที่หลายคนคุ้นชินจนอาจมองข้าม คือซุ้มประตูโขงฝั่งทิศเหนือของวัด ซึ่งเป็นซุ้มประตูสถาปัตยกรรมล้านนาอันเก่าแก่ในยุคสมัยใกล้เคียงกับซุ้มประตูวัดเจ็ดยอด (สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1998 หรือราว 568 ปีที่แล้ว) หากด้วยการพัฒนาเมืองในยุคหลัง ทำให้มีการปลูกบ้านเรือนล้อมวัดจนแน่นขนัด กลบรัศมีความสง่างามของซุ้มประตูแห่งนี้ไป (และหลายคนก็ยังเข้าใจไปว่าประตูทางเข้าวัด ที่อยู่ใกล้ ๆ ร้าน Brewginning คือประตูหน้า หากประตูหลักที่แท้จริงคือฝั่งทิศเหนือที่ซุ้มประตูนี้ตั้งอยู่)ซุ้มประตูโขงวัดชมพูจึงถือเป็นอีกหนึ่งมุมลับที่กลุ่มศิลปินมัลติมีเดียหัวสมัยใหม่ เจ้าของงานสื่อผสมแบบ Site Specific เท่ๆ มากมายอย่าง Kor.bor.Vor. Visual Label ตั้งใจสร้างสรรค์งาน Projection Mapping ให้สอดรับไปกับความงามของซุ้มประตู Transform หนึ่งในแลนด์มาร์กที่หลายคนมองข้ามให้กลับมามีชีวิตชีวาด้วยเรื่องเล่าร่วมสมัยอีกครั้ง2. สะพานแดงข้ามคลองแม่ข่า (The Connection Bridge) : Projection Mapping by Kor.Bor.Vor Visual Label ถัดมาไม่ไกล ในชุมชนช้างม่อยยังมี ‘สะพานแดง’ สะพานเล็ก ๆ เหนือคลองแม่ข่า ที่ชาวชุมชนใช้เป็นทางลัดเชื่อมจากละแวกวัดชมพูไปสู่ถนนราชวงศ์ต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ นี่เป็นครั้งแรกที่เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ขอใช้สะพานนี้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางชมงาน (ไปพร้อมกับให้ทุกคนมีโอกาสเดินเล่นสำรวจชุมชน) โดยทีม Kor.bor.Vor. Visual Label ก็ยังทำงาน Digital Art สร้างชีวิตชีวาให้พื้นที่รอบสะพาน เปลี่ยนจาก ‘ทางผ่าน’ สู่อีกหนึ่งจุดเช็กอินเก๋ ๆ ที่ต้องไม่พลาดแวะชม 3. ห้องแถวห้าห้อง (Original Five) : Projection Mapping by Kor.Bor.Vor Visual Label ถัดมาที่ถนนราชวงศ์ เรามีนัดกันที่ ‘ห้องแถวห้าห้อง’ บนถนนราชวงศ์ ซอย 3 เรือนแถวพาณิชย์ 5 คูหา อันเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคใกล้ของย่านการค้าเก่าแก่แห่งนี้ ปัจจุบันห้องแถวห้าห้องอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เพื่อชุบชีวิตสู่ธุรกิจใหม่ให้สอดรับไปกับการเติบโตของย่าน ซึ่งทีม Kor.bor.Vor. Visual Label เลยได้โอกาสใช้อาคารเหล่านี้เป็นสถานที่บอกเล่าพัฒนาการของย่านช้างม่อยผ่านงานภาพเคลื่อนไหวเสียเลย ว่าแต่เขาจะเล่าเรื่องอะไร และจะน่าสนุกแค่ไหนนั้น ต้องรอติดตามชม4. ธน-อาคาร (เปิ้นสานฉัน) : Projection Mapping by Decide Kitปิดท้ายที่ ธน-อาคาร หนึ่งในสถานที่จัดงานไฮไลต์ของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ปีนี้ธน-อาคารเดิมเคยเป็นที่ตั้งของธนาคารพาณิชย์ชื่อดังของย่าน ที่ซึ่งฟาซาด (facade) หรือผิวหน้าของอาคารมีเส้นสายจำลองรวงข้าว ที่ไม่เพียงบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของธนาคารดังกล่าว แต่ยังเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นของเมืองที่สวยงามยิ่ง ควบคู่ไปกับโชว์เคสสนุกๆ ภายในอาคาร บริเวณด้านหน้าของอาคาร กลุ่มศิลปิน Decide Kit ผู้อยู่เบื้องหลังงานแสง-สี-เสียงเจ๋ง ๆ มากมาย ก็รับหน้าที่ใช้งาน Projection Mapping บอกเล่าเรื่องราวและอัตลักษณ์ของย่านร่วมสมัยแห่งนี้ ซ้อนทับไปกับอัตลักษณ์ของอาคารอย่างเฉียบเท่และเหล่านี้คือบางส่วนจาก ‘มุมลับ’ ที่มาพร้อมไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จากกลุ่มศิลปิน โดยไอเดียที่ว่าจะถูกแปลงโฉมออกมาเป็นเรื่องราวอะไร หรืองานจะมีหน้าตาเก๋ไก๋ขนาดไหน เร็ว ๆ นี้เราจะมาเฉลยกัน
20 พ.ย. BBBB
สำรวจเส้นทางสร้างสรรค์ และเช็กอินตึกเก่าสุดเก๋ในย่านช้างม่อย
ไม่เพียงแนวคิด ‘TRANSFORMING LOCAL: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ ที่มุ่งเสนอกระบวนการเปลี่ยนแปลงและยกระดับมรดกด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ ผ่านความร่วมมือของนักสร้างสรรค์ต่างรุ่น จะถูกใช้เป็นธีมหลักของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) ในปีนี้ หากแต่พื้นที่จัดงานเกือบทั้งหมด ก็ยังเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลง (transforming) ดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะในย่านช้างม่อย (Chang Moi) หนึ่งในสถานที่จัดงานหลักของเทศกาลฯ ที่ซึ่งอาคารเก่าแก่หลายหลังในย่านได้รับการปรับปรุงและยกระดับ เปลี่ยนจากพื้นที่ที่หลายคนเคยมองข้าม ให้อัดแน่นด้วยไอเดีย แรงบันดาลใจ และบรรยากาศอันสดใหม่ มาดูกันว่าภายในอาคารเก่าหลายแห่งในย่านช้างม่อยได้บรรจุไฮไลต์อะไรที่รอให้คุณไปเช็กอิน และเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ กันบ้าง ช้างม่อย: ย่านการค้าเก่าแก่กับชีวิตชีวาใหม่ ย่านช้างม่อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเก่าเชียงใหม่ บนถนนที่เชื่อมสี่เหลี่ยมคูเมืองเข้ากับตลาดวโรรสและแม่น้ำปิง ย่านแห่งนี้ (รวมถนนช้างม่อยเก่า ถนนราชวงศ์ และถนนท้ายวัง) ถือเป็นหนึ่งในย่านการค้าเก่าแก่ที่สำคัญของเมือง ซึ่งเรียงรายไปด้วยอาคารพาณิชย์อายุมากกว่า 50 ปีที่ทั้งงดงาม เปี่ยมเสน่ห์ และถือเป็นอีกหนึ่งมรดกร่วมสมัยคู่เมือง และถึงแม้การขยายตัวของเมืองที่แผ่ออกไปรอบนอกในช่วงเวลาหนึ่ง จะทำให้ย่านช้างม่อยต้องประสบภาวะซบเซาอยู่บ้าง หากในช่วง 3-4 ปีหลัง เมื่อคนรุ่นใหม่ในเชียงใหม่เห็นโอกาสของการทำธุรกิจร่วมสมัยภายในอาคารรอบเขตเมืองเก่า ย่านช้างม่อยจึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจากการผสมผสานกิจการเก่า-ใหม่อย่างลงตัว ตึกมัทนา: จากสำนักงานและโรงเก็บไม้สู่พื้นที่สร้างสรรค์ใจกลางย่าน ตึกมัทนาตั้งอยู่ใจกลางแหล่งการค้าบนถนนช้างม่อย และเคยเป็นที่ตั้งของ บริษัท มัทนาพาณิชย์ จำกัด สำนักงานและโกดังเก็บไม้แห่งแรก ๆ ของเมือง ที่ซึ่งเมื่อเจ้าของอาคารได้ย้ายฐานที่มั่นทางธุรกิจออกนอกเชียงใหม่ อาคารความสูง 3 ชั้นแห่งนี้จึงถูกปิดร้างอยู่พักใหญ่ ก่อนที่ TCDC เชียงใหม่ จะเข้าไปขอใช้พื้นที่โกดังของอาคารสำหรับจัดนิทรรศการในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2565 เช่นเดียวกับเทศกาลฯ ในปีนี้ ตัวอาคารได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดโปรแกรมไฮไลต์ต่าง ๆ อย่างนิทรรศการ ‘เหนือชั้น’ (Upper Floor Project) นิทรรศการที่นำเสนอแนวทางในการจุดประกายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ที่มักไม่ถูกใช้งาน ผ่านกิจกรรมอันหลากหลายที่ชวนให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับอาคารในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่โชว์เคสบอกเล่าเรื่องราวของตึกเก่าในย่าน เวิร์กช็อปเชิงสร้างสรรค์ การฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้า การแสดงดนตรี ไปจนถึงกิจกรรมเปิดไพ่ดูดวง! ฯลฯ นอกจากนี้ ภายในอาคารยังมีนิทรรศการ ‘สร้าง ผ่าน ซ่อม’ (Persona of Things) เปลี่ยนโฟกัสจากแนวทางการฟื้นฟูอาคารเก่ามายังวิธีการฟื้นคืนชีวิตให้สิ่งของอย่างสร้างสรรค์ นิทรรศการนำเสนอกระบวนการการใช้ทักษะเชิงช่างหัตถกรรมมาซ่อมแซมสิ่งของใช้แล้วหรือของเก่าที่เสียหายต่าง ๆ พร้อมกับการเสริมไอเดียใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ควบคู่ไปกับการรักษาเรื่องราวอันทรงคุณค่าในอดีตของสิ่งของนั้น ๆ Tokki Izakaya: International Showcase ภายในร้านอิซากายะ ไม่ไกลจากตึกมัทนา บนถนนชัยภูมิ ซอย 1 (ซอยร้าน Brewginning Coffee หน้าวัดชมพู) Tokki Izakaya Bar เป็นหนึ่งในร้านอาหารญี่ปุ่นร่วมสมัยที่มีส่วนในการบุกเบิกย่านช้างม่อยให้กลับมาคึกคักเช่นทุกวันนี้ โดยในเทศกาลฯ ร้านแห่งนี้ก็ได้มาร่วมแจมด้วยการเปิดพื้นที่ International Showcase นำเสนองานสร้างสรรค์โดยนักออกแบบจากประเทศไต้หวัน จุดประกายแรงบันดาลใจใหม่ ๆ จากต่างแดนให้คนเชียงใหม่ได้เก็บเกี่ยวและดื่มด่ำ ธน-อาคาร: เปล่งประกายไอเดียสุดล้ำในตึกธนาคารเก่า ธน-อาคาร คืออาคารความสูง 3 ชั้นที่มาพร้อมฟาซาด (Facade) สุดเท่อันเป็นผลผลิตของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในบ้านเราเมื่อหลายทศวรรษก่อน อาคารแห่งนี้เดิมเคยเป็นที่ตั้งของธนาคารพาณิชย์เจ้าดังบนถนนราชวงศ์ ภายหลังธนาคารสาขานี้ปิดตัวไป ก็ได้มีผู้ประกอบการหัวก้าวหน้ามาใช้พื้นที่ต่อ โดยวางแผนจะเปลี่ยนให้อาคารกลายเป็นพื้นที่แบบ mixed-use ในเร็ววันนี้ในเทศกาลฯ นี้ ธน-อาคารได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการไฮไลท์หลายงานด้วยกัน ได้แก่ นิทรรศการ Sound Moment โดย วิทยา จันมา นิทรรศการแนว Interactive ผสานภาพเคลื่อนไหวและแผ่นเสียง จนเกิดเป็น Vinyl Animation เชิงทดลอง ที่มาพร้อมเทคนิคภาพติดตาสุดตระการตา นิทรรศการ Flavourscape อีกหนึ่งงาน Interactive ที่ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับผู้คนในภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ภายใต้แนวคิด ‘รีคอมมอนนิ่ง’ (Re-Commoning) ซึ่งเปิดให้ผู้ชมได้ทดลองปรับ สลับ และจับคู่อาหารกับภูมิศาสตร์ของผู้บริโภค เพื่อสำรวจผลลัพธ์ที่เกิดจากการจับคู่ใหม่นั้น ๆ The Haunted House ผลงานโดยนักศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำเทคโนโลยี AR มาสร้างสรรค์บ้านผีสิงสุดล้ำ เปิดประสบการณ์ที่ทั้งสยองและสนุกไปพร้อมกัน ซึ่งเราขอเตือนไว้ก่อนว่าโปรแกรมนี้ไม่เหมาะสำหรับคนขวัญอ่อน! อาคารสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนา: กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ๆปิดท้ายที่อาคารสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนา ซึ่งตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกับ TCDC เชียงใหม่ ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ (Creative Kids Program) โดยทั้งพื้นที่ภายในอาคารและสวนอันร่มรื่นโดยรอบจะถูกใช้เป็นเวทีละครเด็ก รวมถึงกิจกรรมเล่านิทานสำหรับทุกคนในครอบครัว นอกจากนี้ ทางอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (NARIT) ยังมาร่วมเติมเต็มประสบการณ์สุดว้าว กับนิทรรศการ ดวงดาวพราวแสง (Glow in the Dark) แสดงแบบจำลองดาวเคราะห์ของระบบสุริยะจักรวาลภายในอาคารหลังนี้ ให้น้อง ๆ หนู ๆ ชวนพ่อแม่มาดูท้องฟ้าจำลองขนาดย่อม ๆ ตลอดช่วงเทศกาล เช็กอินทุกที่ได้อย่างสะดวกด้วยรถรางที่เชื่อมทุกย่านในเทศกาล ผู้สนใจร่วมเทศกาลฯ สามารถเดินทางไปเช็กอินและรับชมโปรแกรมต่าง ๆ ในทุกสถานที่ที่กล่าวมาได้อย่างสะดวก ด้วยบริการรถรางซึ่งเชื่อมต่อสถานที่จัดงานในย่านหลักของเทศกาลฯ ได้แก่ ย่านกลางเวียง, ย่านช้างม่อย-ท่าแพ โดยรถรางจะวิ่งวนตามย่านต่าง ๆ (รถออกทุก ๆ 1 ชั่วโมง) หรือจะเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ของเมือง ก็มีให้เลือกหลากหลาย นอกจากนี้ ด้วยความที่สถานที่จัดแสดงงานแต่ละแห่งอยู่ไม่ไกลกันนัก การเดินเท้าชิลล์ ๆ เพื่อรับชมงานจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงจะได้เดินชมเมืองเก่าที่สวยงามมีเสน่ห์ของเชียงใหม่ท่ามกลางอากาศเย็นสบายแล้ว ตลอดเส้นทางยังมีการแสดงแสง-สี-เสียง ควบคู่ไปกับการแวะเยี่ยมชมร้านรวงสุดฮิปที่มีอยู่หลายแห่งทั่วเมืองเชียงใหม่ ขอเชิญมาร่วมสำรวจเส้นทางสุดสร้างสรรค์กับการ Transforming ฟื้นคืนชีวิตชีวาให้ย่านเก่าด้วยจิตวิญญาณใหม่ ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) วันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 นี้ แล้วพบกัน!
20 พ.ย. BBBB
พาเหรดกิจกรรมจากผองเพื่อน ที่เติมเต็มเทศกาลฯ ให้เป็นช่วงเวลาสุดสร้างสรรค์
เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023: CMDW2023) ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 ไม่ได้มีแค่งานออกแบบ เพราะนอกจากโชว์เคสและกิจกรรมหลากหลายที่จัดขึ้นใน 2 พื้นที่หลักของเมือง ได้แก่ ย่านกลางเวียง (พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา-ล่ามช้างเมืองเก่าเชียงใหม่), ย่านช้างม่อย-ท่าแพ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่แล้ว ในช่วงเวลาจัดงาน เหล่าเครือข่ายพันธมิตรของ CEA ยังผนึกกำลังกันจัดอีเวนต์สนุก ๆ ควบคู่ไปด้วย โดยอีเวนต์ที่ว่าก็ครอบคลุมตั้งแต่เทศกาลศิลปะ ดนตรี ศิลปะการแสดง และอื่น ๆ ภายในเขตตัวเมืองและอำเภอข้างเคียง เปลี่ยนให้ตลอดทั้งสัปดาห์ของการจัดงาน เป็นช่วงเวลาที่เมืองเชียงใหม่ได้เฉลิมฉลองพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มอิ่ม ไปดูกันว่าแต่ละสถานที่จัดงานอะไรกันบ้าง ภาพจาก: นิทรรศการ Unveiling Objectsพิกัด – สันกำแพงเริ่มจากโซนเหนือที่อำเภอสันกำแพง หนึ่งในย่านสร้างสรรค์สำคัญในฐานะแหล่งผลิตงานหัตถกรรมขึ้นชื่อของเมืองเชียงใหม่ แต่ที่นี่ไม่ได้มีดีแค่งานคราฟต์ โดยยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ โดยในช่วงเวลาของการจัดเทศกาลฯ พิพิธภัณฑ์ได้เปิดต้อนรับทุกท่านให้มาเข้าสู่โลกแห่งความฝันและจินตนาการสุดคัลเลอร์ฟูล ผ่านการรับชม นิทรรศการ Dreamworld #dreammantra โดย มิตร ใจอินทร์ ศิลปินชาวเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผู้ประยุกต์งานหัตถกรรมท้องถิ่นให้เข้ากับงานทัศนศิลป์ร่วมสมัย จนเกิดเป็นงานสร้างสรรค์ที่เปี่ยมไปด้วยสีสันและจิตวิญญาณ นอกจากนี้ ที่นี่ยังมี นิทรรศการ Unveiling Objects จัดแสดงของสะสมด้านศิลปะที่น่าสนใจในคอลเล็กชันส่วนตัวของ Jean-Michel Beurdeley ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรมกึ่งเก้าอี้ของชวลิต เสริมปรุงสุข งานเฟอร์นิเจอร์สุดล้ำของสิงห์ อินทรชูโต หรือเครื่องใช้ไม้สอยเท่ ๆ ของไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ฯลฯ โดยนิทรรศการฯ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2566 – 18 กุุมภาพันธ์ 2567ภาพจาก: Mango Art Festivalพิกัด – หางดง ไปต่อที่โซนใต้ในอำเภอหางดง อีกหนึ่งฐานการผลิตงานไม้แกะสลักและตลาดสินค้าแอนทีกชั้นเลิศระดับภูมิภาค โดยในช่วงการจัดเทศกาล CMDW2023 De Siam Antiques Chiangmai ได้จัดเทศกาลศิลปะ Mango Art Festival 2023 ไปพร้อม ๆ กันต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยในปีนี้ทางผู้จัดได้รวบรวมและคัดสรรผลงานของศิลปินร่วมสมัยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาจัดแสดงภายใต้แนวคิด ‘Treasure Discovered’ โดยนำเสนองานศิลปะร่วมสมัยที่เกิดจากการผสมผสานมุมมองใหม่ ๆ เข้ากับโบราณวัตถุ Mango Art Festival 2023 จัดแสดงในวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 ภายในสวนที่มีพื้นที่กว้างและกลุ่มเรือนโบราณอันงดงามและร่มรื่น ภายในพื้นที่ของ De Siam Antiques Chiangmaiพิกัด – ตัวเมืองเชียงใหม่ กลับมาในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ Jing Jai Gallery ณ กาดจริงใจ นิทรรศการ Spirit Atlas พร้อมต้อนรับอาร์ตเลิฟเวอร์เช่นกัน ด้วยการนำเสนอผลงานศิลปะจากสื่อที่หลากหลาย ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพเคลื่อนไหว ที่ล้วนสะท้อนภูมิทัศน์วัฒนธรรมป๊อปในบ้านเรา ผ่านมุมมองของ 7 ศิลปินรุ่นใหม่ เช่น นักรบ มูลมานัส, ยุรี เกนสาคุ, สันติภาพ อินกองงาม ฯลฯ นับเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่คอศิลปะไม่ควรพลาด จัดแสดงแบบยิงยาวตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 – 11 กุมภาพันธ์ 2567ภาพจาก: นิทรรศการ Colour Lives: Furniture Exhibitionพิกัด – ใจกลางย่านเมืองเก่า ส่วน Kalm Village อีกหนึ่งพื้นที่ศิลปหัตถกรรมร่วมสมัยย่านใจกลางย่านเมืองเก่า ก็มี นิทรรศการสีสันกับชีวิต: นิทรรศการเฟอร์นิเจอร์ โดย สุวรรณ คงขุนเทียน นักออกแบบชั้นครูผู้เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสืบสานงานหัตถกรรมดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัยและยั่งยืน โดยนิทรรศการนี้จะจัดแสดงควบคู่ไปกับคอลเล็กชันงานคราฟต์ร่วมสมัยของนักสร้างสรรค์ท่านอื่น ๆ ภายในพื้นที่ พิกัดอื่น ๆ นอกจากศิลปะและงานออกแบบแล้ว ในช่วงสัปดาห์การจัดงาน CMDW2023 นี้ สายดนตรีก็มีซาวนด์ดี ๆ ให้ได้ฟังกันอย่างจุใจ ไม่ว่าจะเป็น Chiang Mai Street Jazz Festival เทศกาลดนตรีแจ๊สที่สนุกและติดดินที่สุดของเมือง ซึ้งปีนี้จัดแสดงต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 งานนี้มีนักดนตรีแจ๊สทั้งชาวไทยและต่างชาติมากมาย หมุนเวียนมาแจมดนตรีกันตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่, North Gate Jazz Club, Moment’s Notice, The Mellowship Jazz Clab รวมถึงพื้นที่สาธารณะทั่วมุมเมือง (25 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566) เช่นเดียวกับงาน Chiang Mai Busking หรือเทศกาลดนตรีเปิดหมวกเชียงใหม่ ที่จัดโดยกลุ่ม Chiang Mai Original ผู้จัดก็ได้ชักชวนนักดนตรีเชียงใหม่หลากหลายสไตล์ มาร่วมแสดงผลงานเพลงของพวกเขาเอง เพื่อสร้างสีสันและความรื่นรมย์ตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ในย่านล่ามช้าง กลางเมืองเก่าเชียงใหม่ ภาพ: Street Jazz Festivalทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของความสนุกตลอดหนึ่งสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองความคิดสร้างสรรค์และพลังแห่งท้องถิ่นจากเครือข่ายพันธมิตร CEA ขอเชิญทุกท่านร่วมเก็บเกี่ยวไอเดียสนุก ๆ สปาร์กแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และดื่มด่ำประสบการณ์สุดรื่นรมย์ได้จาก Friend Activities ทั้งในอำเภอสันกำแพง หางดง และตัวเมืองเชียงใหม่ พร้อม ๆ ไปกับงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 ระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคม นี้
19 พ.ย. BBBB
กิจกรรมสัมมนาผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2023
กิจกรรมสัมมนาผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2023เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 28 กันยายน 2566 ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จัดกิจกรรมสัมนาผู้เข้าร่วมจัดงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Desaign Week) 2023 ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มพูนโอกาสในการต่อยอดผลงานจัดแสดง ส่งเสริมธุรกิจ ขยายพื้นที่ในการส่งเสริมนักออกแบบ ดีไซเนอร์ ผู้ประกอบการ นักดนตรี และผู้ที่สนใจ เพื่อผลักดัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในท้องถิ่นให้เติบโตเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ (Chaing Mai Design Week) 2023 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 จึงอยากชวนนักออกแบบ นักคิด นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ ศิลปิน เหล่าคนคืนถิ่น หรือผู้ที่สนใจมาร่วมก้าวเดินต่อไปด้วยกัน ภายใต้แนวคิด ‘Transforming Local : ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ พื้นที่สำหรับนำเสนอ แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงทุกแรงบันดาลใจและไอเดียการต่อยอดองค์ความรู้เก่า – ใหม่ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่น ตลอดจนเติมเต็มโอกาสการทางแข่งขันด้วยโปรแกรมสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ควบคู่ผลักดันศักยภาพท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับและยืนหยัดได้อย่างสง่างามในเวทีระดับสากลสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้โอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ (Chaing Mai Design Week) 2023 รวมถึงพบปะผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลท่านอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างโอกาส และเส้นทางทางเติบโตในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น การจัดแสดงโชว์ผลงานออกแบบ (Showcases) กิจกรรมส่งเสริมธุรกิจ (Activities) และตลาดหัตถกรรมคัดสรร (POP Market) ด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และให้เกิดการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภายภาคหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้เข้าร่วมงานกิจกรรมสัมมนาผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2023 (Exhibitor’s Seminar) เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสพบปะทุกท่านในเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ (Chaing Mai Design Week) 2023 ในวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566#ChiangMaiDesignWeek2023 #CMDW2023 #TransformingLocal
29 ก.ย. BBBB
From Creative District to Hub of Creativity
From Creative District to Hub of Creativity ‘ย่านสร้างสรรค์ (Creative District)’ ถือเป็นโมเดลยอดฮิตที่ทั่วโลกใช้ปลุกย่านและเมืองซบเซาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงระบบนิเวศสร้างสรรค์ในการเป็นกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของพื้นที่ และอย่างที่หลายคงพอจะทราบกันมาแล้วบ้างว่า ในประเทศไทยของเราก็มีย่านสร้างสรรค์กับเขาเหมือนกัน โดยเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network : TCDN) ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีย่านสร้างสรรค์จำนวนมากกว่า 30 พื้นที่ใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ย่านกลางเวียง (เขตเมืองเก่าคูเมืองชั้นในด้านทิศเหนือ)’ และ ‘ย่านช้างม่อย – ท่าแพ’ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) พยายามผลักดัน ค้นหาอัตลักษณ์ ควบคู่เชื่อมร้อยผู้คน ชุมชน ช่างฝีมือ นักออกแบบและผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อลุกขึ้นมาฟื้นฟูย่านประวัติศาสตร์และย่านเศรษฐกิจเก่าให้กลายเป็น ‘พื้นที่ย่านสร้างสรรค์ต้นแบบแห่งแรกในภูมิภาค’ สำหรับเป็นกรณีศึกษาแนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แก่เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทยในภาคเหนือ พร้อมทั้งทดลองเครื่องมือขับเคลื่อนตามบริบทของย่าน ผ่านโปรเจ็กต์ทดลอง (Local City Lab) เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และจุดประกายกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการพัฒนาย่าน สินค้าและบริการให้ตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงส่งท้ายปลายปี ‘เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week)’ ยังได้เนรมิตพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ให้เป็นช่วงเวลาแสนพิเศษที่ทุกคนจะได้เข้ามาสัมผัสกับย่านเหล่านี้ในมุมมองที่แตกต่าง ค้นพบศักยภาพในพื้นที่ที่คุณอาจจะคาดไม่ถึง ท่ามกลางสีสันบรรยากาศรื่นรมย์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และซึมซับแรงบันดาลใจจากบรรดาผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมซึ่งเปิดพื้นที่ให้ชาวย่านได้เข้ามีส่วนร่วมลงขันความคิด (Co-Created) ถ่ายทอดสิ่งที่น่าสนใจหรือนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ทลายข้อจํากัดอันท้าทาย (Challenge) มากมาย ตั้งแต่ ย่านกลางเวียง ที่ต้อนรับทุกคนด้วยโปรแกรมเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมสู่วิถีแห่งความร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงผลงานออกแบบหัตถกรรมร่วมสมัย (Design Showcases) เวิร์คช็อปงานภูมิปัญญาพื้นบ้าน การออกบูธทดสอบตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ (Pop Market) การแสดงดนตรีของศิลปินท้องถิ่นสุดครื้นเครง หรือดนตรีเปิดหมวก (Busking) ที่กระจายตัวบรรเลงเสียงเพลงเพราะ ๆ ไปจนถึงหลากผลงานออกแบบแสงสว่าง (Interactive Lighting) อันตื่นตาตื่นใจให้เดินแชะและแวะชมกันอย่างเพลิดเพลิน ส่วน ย่านช้างม่อย – ท่าแพ จะถูกเติมเต็มความสนุกปลุกพลังสร้างสรรค์ด้วยสารพัดโปรเจ็กต์ทดลองความเป็นไปได้ใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในย่านสร้างสรรค์ นานากิจกรรมพิเศษที่เหล่าผู้ประกอบการธุรกิจดั้งเดิม ธุรกิจสร้างสรรค์และนักสร้างสรรค์ประจำย่านรังสรรค์มาให้จอยกันแค่ปีละครั้ง รวมทั้งโปรแกรม City Farming ไฮไลท์ของปีนี้ที่ชาวย่านรวมพลังกันสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ พลันเชื่อมโยงผลผลิตสู่ครัวเรือนเพื่อการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พัฒนาแหล่งอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมนำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมท้องถิ่นสร้างสรรค์อีกหลายหลาก ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร งานหัตถกรรม งานออกแบบ ดนตรี และศิลปะ ให้ทุกคนได้ร่วมกันมองหาโอกาสใหม่ (New Opportunities) ในการพัฒนาระบบนิเวศน์สร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นกว่าเดิม
16 ก.ย. BBBB
ศักยภาพอุตสาหกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ
ศักยภาพอุตสาหกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีภูเขาและแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศ ภาคเหนือจึงมีความโดดเด่นในด้านความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของภาคเกษตรกรรม ทั้งหมดหล่อเลี้ยงและหล่อหลอมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ผลิภูมิปัญญาและรากฐานวัฒนธรรมที่สืบทอดมาช้านาน กระทั่งเสริมสร้างภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งหมุนเวียนเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร (Food) งานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) การออกแบบ (Design) ศิลปะ (Art) และดนตรี (Music) ที่ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่มีศักยภาพพัฒนาเป็น ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries)’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)’ ของประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนช่วยพลิกฟื้นเมืองน่าอยู่ที่มีชีวิตชีวา และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่สู่วิถีแห่งความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาหาร (Food) หนึ่งในจุดแข็งของภาคเหนือคือการเป็นแหล่งอาหารอันมั่งคั่ง หลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปด้านการเกษตรที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและประเทศ ขณะเดียวกันท่ามกลางสังคมเกษตรกรรมขนาดใหญ่และมีหลากหลาย วัฒนธรรมอาหารการกินและวัตถุดิบของภาคเหนือยังมีจุดร่วมกับวัฒนธรรมอาหารนานาชาติ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวดอยกับข้าวญี่ปุ่น ชาและกาแฟซึ่งเป็นเครื่องดื่มสากล สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการขยับขยายตลาดอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตด้วยรากฐานวัฒนธรรม ไม่เพียงเท่านั้น ภาคเหนือยังมีผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์มากมายที่หยิบจับวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า ออกแบบเมนูอาหารร่วมสมัยหลากสไตล์ รวมถึงความพยายามเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการกินอย่างรู้ที่มา คุณค่าและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างการเกิดขึ้นของเครือข่าย Slow Food Thailand เกษตรกรรุ่นใหม่ที่จริงจังกับการทำเกษตรกรรมยั่งยืน หรือแม้แต่การทำเกษตรอัจฉริยะที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับมาตรฐานการผลิตควบคู่กับรักษาความหลากหลายทางพันธุ์พืชพื้นถิ่น เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ จุดประกายการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน (Local sustainable Living) พร้อมทั้งพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพและส่งเสริมการท่องเที่ยวมูลค่าสูงงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) นอกจากสะท้อนถึงวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น เรื่องของอาหารยังเป็นมีส่วนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) ที่รังสรรค์ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำมาหากินและใช้ชีวิต โดยงานฝีมือและหัตถกรรมในภาคเหนือนั้นโดดเด่นในแง่ของทักษะอันหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นงานสิ่งทอ งานเครื่องเงิน งานเครื่องจักสาน งานเครื่องโลหะ งานเครื่องเขิน งานกระดาษ งานเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ กอปรกับเป็นภูมิภาคที่มีผู้ผลิตงานฝีมือและหัตถกรรมครอบคลุมตั้งแต่ระดับผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงโรงงานหัตถอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเหล่านักสร้างสรรค์ที่นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาต่อยอดพัฒนา โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสุโขทัย ที่ถูกประกาศเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการผลิตช่างฝีมือและแหล่งจ้างงานหลักของอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมที่สำคัญของภาคเหนือ การออกแบบ (Design) กระบวนการออกแบบ คือเครื่องมือหนึ่งที่มักถูกนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์งานฝีมือและหัตถกรรมให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เหตุนี้เองการออกแบบ (Design) จึงกลายเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือที่มีความสำคัญและความเข้มแข็งจากการเกิดขึ้นของแบรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ หรือแม้แต่ธุรกิจดั้งเดิมมากมายที่ทายาทคนรุ่นใหม่สนใจหันมาเชื่อมร้อยต้นทุนทางวัฒนธรรม ยกระดับผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาอย่างยาวนานสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยดีไซน์และฟังก์ชั่นที่เป็นมากกว่าข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน หากยังเป็นผลิตภัณฑ์นำเสนออัตลักษณ์ที่มีคุณค่าและมนตร์เสน่ห์ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในฐานะของฝากประทับใจ ของประดับตกแต่งโรงแรมที่มีสไตล์ หรือของใช้สร้างสุนทรียภาพบนโต๊ะอาหาร รวมถึงช่วยขับเคลื่อนภาคการส่งออกของจังหวัดให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ศิลปะ (Art) ทำไม ศิลปะ (Art) จึงถือเป็นอุตสาหกรรมเด่นของภาคเหนือ คำตอบของเรื่องนี้พิจารณากันไม่ยาก เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่ให้กำเนิดศิลปินที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศและนานาชาติ เช่น เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ถวัลย์ ดัชนี อินสนธิ์ วงค์สาม ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล มิตร ใจอินทร์ ฯลฯ ตลอดจนเป็นแหล่งพำนักของบรรดาศิลปินอาชีพที่เลือกย้ายมาอยู่อาศัยเพื่อเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ผลิตนักศึกษาศิลปะหลากหลายสาขาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีพื้นที่ของเมือง หอศิลปวัฒนธรรมและแกลลอรี่ต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับการจัดแสดงผลงานศิลปะ ส่งเสริมและสนับสนุนศิลปินตั้งแต่ระดับนานาชาติไปจนถึงศิลปินหน้าใหม่ และมีคอมมูนิตี้ของศิลปินรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยน่าจับตามองมากมายดนตรี (Music) เสียงดนตรีจากภาคเหนือไม่เคยห่างหายไปจากท่วงทำนองของอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย ในช่วงหลายปีมานี้มีศิลปินจากดินแดนล้านนาแจ้งเกิดในวงการมากมายจากการร้องคัฟเวอร์และทำเพลงของตัวเอง จนสามารถขยับเข้าสู่ค่ายเพลงแถวหน้าของประเทศและร่วมเทศกาลดนตรียักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติ แล้วถ้าหากพูดถึงฐานทัพนักดนตรีที่สร้างความเคลื่อนไหวน่าสนใจแก่อุตสาหกรรมดนตรี (Music) ภาคเหนือ ก็คงหนีไม่พ้นจังหวัดเชียงใหม่ เพราะที่นี่มีจำนวนนักดนตรีและคอมมูนิตี้ที่ตื่นตัวกับการขับเคลื่อนวัฒนธรรมดนตรีอยู่อย่างหลากหลาย อาทิ กลุ่ม Chiangmai Original ที่พยายามผลักดันศิลปินเชียงใหม่ให้ลงมือสร้างสรรค์ผลงานเพลงของตัวเองเพื่อสร้างมูลค่าในเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน Minimal Records ค่ายเพลงอินดี้ที่สนับสนุนศิลปินท้องถิ่นและผลิตศิลปินออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือ กลุ่ม World Music และ Jazz Bar ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วเมืองเพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมดนตรีกลิ่นอายร่วมสมัย มีเอกลักษณ์และความเป็นสากล จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เพียงเติมเต็มสีสันบรรยากาศเมืองให้มีชีวิตชีวา ทว่ายังเป็นพลังดึงดูดการท่องเที่ยวซึ่งเชื่อมผสานผู้คนต่างวัฒนธรรมด้วยพลังแห่งความรื่นรมย์
16 ก.ย. BBBB