ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

เมื่อนักสร้างสรรค์ Homecoming จับมือศิลปินต่างแดน ปั้น ‘ข้าว’

Residency Program: Overseas Creators Collaboration เมื่อนักสร้างสรรค์ Homecoming จับมือศิลปินต่างแดน ปั้น ‘ข้าว’กิจกรรมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์คืนถิ่นและนักสร้างสรรค์ในพำนักจากต่างประเทศ (Homecoming Creators and Oversea Creators Collaboration In Residency program) คือ โครงการศิลปินพำนัก ที่ CEA เชียงใหม่ ร่วมกับ Japan Foundation และ Taiwan Designers’ Web ยกระดับเครือข่ายผู้ประกอบการสร้างสรรค์ท้องถิ่นเชื่อมโยงสู่เวทีนานาชาติ ผ่านการเชิญนักสร้างสรรค์งานเซรามิกจากประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน มาใช้ชีวิต เรียนรู้ และพัฒนาผลงานร่วมกันกับสตูดิโอท้องถิ่นที่เชียงใหม่ พร้อมทั้งจัดแสดงผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนด้วยกัน (สิงหาคม – กันยายน 2567) ภายใต้โจทย์เรื่อง ‘Start from the Rice ’ จิรวงษ์ วงษ์ตระหง่าน และมูเนอากิ อิวาชิตะ (Muneaki Iwashita) นักสร้างสรรค์จากต่างแดนที่มาร่วมโครงการมีด้วยกัน 2 คน ได้แก่ มูเนอากิ อิวาชิตะ (Muneaki Iwashita) ศิลปินเซรามิก และทายาทรุ่นที่ 6 ของ Iwashita Pottery แห่งเมืองมาชิโกะ (Mashiko) ประเทศญี่ปุ่น และ ลิเดีย (Chia, Hsun-Ning) ศิลปินเซรามิก และผู้จัดการ Nie Studio เมืองไทเป ไต้หวัน โดยทั้งสองได้พำนักที่ อินเคลย์ สตูดิโอ (In-Clay Pottery) ของ ชิ-จิรวงษ์ วงษ์ตระหง่าน และชามเริญ สตูดิโอ (Charm Learn Studio) ของ มิก-ณัฐพล วรรณาภรณ์ ตามลำดับ Chia, Hsun-Ning และ ณัฐพล วรรณาภรณ์พร้อมไปกับการแลกเปลี่ยนแนวคิด ทักษะ และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์จากญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย เจ้าบ้านอย่างมิกและชิยังรับหน้าที่เป็นไกด์อาสา พาแขกรับเชิญเยี่ยมชมย่านสร้างสรรค์และแหล่งผลิตงานเซรามิกชั้นนำในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตดั้งเดิมของเชียงใหม่ ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ในย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ หมู่บ้านเหมืองกุง แหล่งผลิตน้ำต้น-เครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ของคนในภาคเหนือ รวมถึงโรงงานเซรามิกชั้นนำอย่าง โรงงานธนบดี ในจังหวัดลำปาง Earth & Fire เชียงใหม่ และสตูดิโอของศิลปินอีกมากมายทั่วเมืองไม่เพียงเท่านั้น ในโปรแกรม Residency ครั้งนี้ พวกเขาทั้ง 4 ยังได้รับโจทย์ให้สร้างสรรค์ผลงานเครื่องปั้นดินเผาชุดใหม่ภายใต้แนวคิดเรื่อง ‘Start from the Rice’ ซึ่งจัดแสดงที่ Anantara Chiang Mai Resort เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาเริ่มจาก มูเนอากิ ที่นำความประทับใจจาก ‘ห่อตอง’ (ห่อใบตอง) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมสำหรับใส่ข้าวเหนียวและอาหารอื่น ๆ ของคนภาคเหนือ มาพัฒนาเป็นงานเซรามิก ก่อนจะตกแต่งด้วยประติมากรรมช้างที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ และประติมากรรมสมเสร็จ สัตว์ที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าจะสามารถดูดกินฝันร้ายได้ โดยสมเสร็จยังเป็นซีรีส์งานปั้นที่ มูเนอากิได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องให้กับ Iwashita Pottery ที่บ้านเกิดของเขาอีกด้วย “ผมเพิ่งเคยได้เห็นห่อใบตองเมื่อมาที่เมืองไทยนี่แหละ มันเป็นทั้งภาชนะ และบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่น่าทึ่งไม่น้อย ผมรู้สึกประทับใจในฟังก์ชั่นอันเรียบง่าย และความชาญฉลาดของคนท้องถิ่นที่ประยุกต์วัสดุธรรมชาติมาเป็นภาชนะอย่างยั่งยืน จึงทดลองนำรูปทรงของมันมาใช้กับงานปั้น โดยยังคงรักษาฟังก์ชั่นดั้งเดิมในการใส่อาหารได้อยู่ ขณะเดียวกัน ก็อยากทำให้งานชิ้นนี้มันสามารถเป็นของที่ระลึกและของตบแต่งได้ด้วย จึงใส่สัญลักษณ์ของสัตว์จากเชียงใหม่และบ้านเกิดผมเข้ามา ซึ่งก็ช่วยลดทอนความทึบและหนาของชิ้นงานหลักได้ดี” Muneaki กล่าวขณะที่ ชิ-จิรวงษ์ ผู้เปิดอินเคลย์ สตูดิโอ ให้ Muneaki พำนัก เลือกนำเสนอชุดงานเซรามิกภายใต้แนวคิด Rice Grains: Farming, Cooking and Forming (กระบวนการผลิตข้าวแบบประเพณี การจัดสำรับในมื้ออาหารที่ประกอบไปด้วยอาหารที่หลากหลาย และรูปร่างของเมล็ดและจมูกข้าวที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน) ปรากฏในรูปของถ้วยชามรูปทรงเมล็ดข้าวแบบผ่าครึ่งหลากหลายขนาด ซึ่งใช้กระบวนการเคลือบพื้นผิวให้มีสีขาวนวลและมันวาวเฉกเช่นกับเมล็ดข้าวของจริง  “ผมสนใจกระบวนการลงแขก เก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาที่สะท้อนความร่วมแรงร่วมใจ และความสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่น และนอกจากการจำลองรูปลักษณ์ของเมล็ดข้าว ผมยังเลือกที่จะทำภาชนะใส่อาหารหลายรูปทรง ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมการกินอาหารร่วมกันของคนไทยไปพร้อมกัน” ชิ กล่าวด้วยความประทับใจที่ได้เห็นตะกร้าพลาสติกสำหรับใส่ขนมจีน ในร้านขนมจีนริมทางที่กาดหลวง ลิเดีย นักสร้างสรรค์จากไต้หวันที่เข้าพักและผลิตผลงานที่ชามเริญ สตูดิโอ จึงนำรูปทรงดังกล่าวมาพัฒนาร่วมกับเทคนิคการทำเซรามิกสาน อันคล้ายคลึงกับผลงานสร้างชื่อของเธอเองอย่าง Fiber Ceramic ที่เธอนำเชือกมาเป็นวัตถุดิบร่วมในงานเครื่องปั้นดินเผา ไม่เพียงเท่านั้น ลิเดียยังนำเสนอซีรีส์งานประติมากรรมที่เกิดจากการทดลองนำเมล็ดข้าวมาเป็นวัตถุดิบร่วมในงานปั้น อาทิ ถ้วยชามที่เกิดจากการนำเมล็ดข้าวมาคลุกกับเนื้อดินก่อนขึ้นรูปและเข้าเตาเผา การนำเมล็ดข้าวมาประดับตกแต่งบนพื้นผิว และชุดงานประติมากรรมที่ใช้เมล็ดข้าวมาสร้างเลเยอร์ซ้อนทับ เป็นต้น  “การใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่เกือบหนึ่งเดือน ทำให้ฉันประทับใจเสน่ห์ที่เกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนที่นี่ รวมถึงการผสมผสานความเก่า-ใหม่ คละเคล้ากันในชิ้นงานและพื้นที่สร้างสรรค์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง และความที่ฉันสนใจในการทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากการผสมผสานวัสดุอยู่แล้ว การได้มาที่นี่ ก็ทำให้ยิ่งรู้สึกสนุกกับการทำงานมากขึ้นไปอีก” ลิเดีย กล่าวปิดท้ายที่มิก แห่ง ชามเริญ สตูดิโอ ที่นำความประทับใจจากวัฒนธรรมกินข้าวเหนียวด้วยมือของคนภาคเหนือ (และวัฒนธรรมร่วมของคนอาเซียน) มาผสานกับลูกเล่นสนุก ๆ ที่เขาประยุกต์มาจากเครื่องประดับสอดนิ้วสำหรับการฟ้อนเล็บของช่างฟ้อนล้านนา จนเกิดเป็นซีรีส์เซรามิก ‘เล่น-กิ๋น-แต้’ (Journey with Sticky Rice) ที่มิกนำเสนอชุดภาชนะสำหรับการรับประทานอาหารที่ชวนให้ผู้ใช้สอดนิ้วเข้าไป “จริง ๆ สตูดิโอของผมก็อยู่ริมทุ่งนาอยู่แล้ว แต่การได้ย้อนกลับมาสำรวจวิถีชีวิตและแวดวงศิลปวัฒนธรรมในเชียงใหม่บ้านเกิดของผมเองอีกครั้งตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผมกลับมามองวัฒนธรรมการกินข้าว โดยเฉพาะการกินข้าวเหนียวของคนเมืองในมุมใหม่ เลยอยากนำเสนอความสนุกจากการกิน และการประยุกต์รูปแบบการจัดอาหารท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับภาชนะในจินตนาการนี้” มิก นักออกแบบที่สร้างชื่อจากการนำแรงบันดาลใจในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย มาพัฒนาเป็นงานเซรามิกร่วมสมัย กล่าวเหล่านี้คือบางส่วนของผลลัพธ์จากนักสร้างสรรค์ 4 คน จาก 3 ประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการ กิจกรรมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์คืนถิ่นและนักสร้างสรรค์ในพำนักจากต่างประเทศ โดย CEA ซึ่งแน่นอน หาใช่การได้มาแค่ผลงานชุดใหม่ ที่นักออกแบบจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อวางจำหน่ายต่อไป  (รวมถึงจะถูกนำไปจัดแสดงใน Chiang Mai Design Week 2024 เดือนธันวาคมนี้) หากการได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การทำงานร่วมกันตลอดเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ก็นับเป็นเชื้อไฟชั้นดีให้พวกเขานำไปต่อยอดเป็นผลงานในโปรเจกต์ใหม่ ๆ ต่อไป ที่สำคัญและอย่างไม่อาจปฏิเสธ กิจกรรมครั้งนี้ยังเผยให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม และเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์บ้านเรา ค้นพบที่ทางในการนำผลงานไปเฉิดฉาย และเข้าถึงตลาดสินค้าสร้างสรรค์ระดับนานาชาติต่อไปไม่เพียงเป็นเจ้าบ้านที่ต้อนรับนักสร้างสรรค์จากต่างแดนอย่างดี ล่าสุด ผลงานบางส่วนของอินเคลย์ สตูดิโอ และชามเริญ สตูดิโอ ยังได้รับการคัดเลือกโดย MUJI ประเทศไทย ไปพัฒนาเป็นสินค้าภายใต้โครงการ Found MUJI Thailand ซึ่งมีกำหนดวางจำหน่ายในร้านสาขาของ MUJI ที่ศูนย์การค้า One Siam กรุงเทพฯ และ MUJI Flagship Store ที่ Central Chiangmai Airport เชียงใหม่ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

รู้จักตัวเอง เข้าใจลูกค้า และเท่าทันโลกใน Co-Creative Workshop: Academic Program

“เมื่อเป็นเจ้าของแบรนด์ คุณไม่สามารถจำกัดตัวเองว่าจะเป็นแค่นักออกแบบหรือผู้ผลิตได้อย่างเดียว คุณจำเป็นต้องทำความเข้าใจทุกอย่างที่หมุนรอบธุรกิจคุณ เข้าใจตัวเอง เข้าใจลูกค้า และเข้าใจเทรนด์ของโลกว่ากำลังเคลื่อนไปทิศทางไหน คุณไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเข้าใจเรื่องเหล่านี้ คุณก็สามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปถึงจุดที่คุณอยากให้เป็นได้” เอก-ศรัณญ อยู่คงดี นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ SARAAN กล่าวข้อความข้างต้น ตัดมาจากงานเสวนา Talk Series: “Creative, Design, Technology, and Sustainable” ในหัวข้อ Business Model Canvas (BMC) for Creative Industries ที่ศรัณญเป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมกับ เมย์ – ธนิดา ดลธัญพรภคภพ ผู้ก่อตั้งตั้งแบรนด์ IRA Natural Product และ ปุ๊-สมภพ ยี่จอหอ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Doister (ดำเนินรายการโดย อรช บุญ-หลง)งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ Co-Creative Workshop: Academic Program กิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพแรงงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษาและผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น ด้านการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความยั่งยืน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 กรกฎาคม 2567 โดย CEA เชียงใหม่ ร่วมกับ เมืองงาม ครีเอชั่น ซึ่งวิทยากรทั้ง 3 ท่านได้รับเชิญให้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างแบรนด์ และการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองให้กับเหล่านักศึกษาและกลุ่ม startups รุ่นใหม่ในเชียงใหม่ เพื่อสกัดแนวคิดและประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแบรนด์ของเหล่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ต่อไป และต่อจากนี้คือบางส่วนของเสวนากระตุ้นไฟสร้างสรรค์ดังกล่าวเรื่องเล่าคือหัวใจสำคัญของงานสร้างสรรค์เอก-ศรัณญ อยู่คงดี เป็นนักออกแบบเครื่องประดับ ผู้เคยกวาดรางวัลการออกแบบชั้นนำทั้งระดับประเทศและนานาชาติมาแล้วมากมาย เขาก่อตั้ง SARAAN ในปี 2551 และใช้เวลาไม่นานในการสร้างชื่อเสียงระดับโลก ผ่านการนำเสนอเสน่ห์ของผู้หญิงและดอกไม้พื้นถิ่นของไทยอย่างวิจิตรและร่วมสมัย ผลงานของเขาเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าเซเลบริตี้ระดับโลกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น บียอนเซ่ (Beyonce) ริฮานนา (Rihanna) ไปจนถึง อลิเชีย คีส์ (Alicia Keys) ที่เคยใส่เครื่องประดับของเขาในงานเปิดศูนย์การค้า ICONSIAM และลิซ่า–ลลิษา มโนบาล ที่ใส่เครื่องประดับของเขาเข้าฉากในมิวสิกวิดีโอเพลง LALISA เป็นต้นในงานเสวนา เอกบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิง และการลงลึกค้นคว้าในเรื่องที่สนใจ ก่อนจะพัฒนาออกมาเป็นงานออกแบบที่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเอง เขาเล่าว่า กระบวนการค้นคว้าเชิงลึกในแพสชั่น (passion) ของตัวเองคือสิ่งสำคัญ เพราะนั่นจะทำให้เรารู้จัก ‘เรื่องเล่า’ ที่แฝงอยู่ในสิ่งที่เราจะออกแบบ   “Storytelling คือเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ ขณะที่ SARAAN นำเสนอความพิถีพิถันของงานแฮนด์เมดเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เรื่องเล่าที่มาพร้อมกัน จะช่วยสร้างคุณค่า และทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นมากกว่าแค่สิ่งของเพื่อการใช้งาน แต่เป็นสาส์นที่ใช้สื่อสารกับผู้คนและสังคมต่อไป” เอก กล่าวภาพถ่ายจาก https://www.instagram.com/sarranofficial/ เรื่องเล่าในผลงานของศรัณญ ครอบคลุมทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย วิถีอันสง่างามของผู้หญิง ไปจนถึงความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งเหล่านี้เมื่อมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์อันสดใหม่ จึงนำมาสู่อัตลักษณ์ไทยร่วมสมัยอันเปี่ยมเสน่ห์ และไม่เกินเลยที่จะบอกว่างานของเขาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) อันหลักแหลมของไทย เมื่อมันถูกเผยแพร่ และได้รับเสียงชื่นชมบนเวทีโลก“ผมสนใจในบทบาทและความงดงามของวิถีผู้หญิงไทย โดยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ผมใช้แรงบันดาลใจนี้มาสร้างสรรค์งาน ขณะเดียวกัน ก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ผู้หญิงไทยในมุมมองผม จึงไม่ใช่คนที่เอาแต่สวมชุดไทยและนั่งพับเพียบเรียบร้อย แต่เป็นผู้หญิงหัวสมัยใหม่ที่เท่าทันโลก และใส่ใจในความยั่งยืน” เอกยังเสริมอีกว่าการให้ความสำคัญกับอดีต การอยู่กับปัจจุบัน และตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะทำให้เรื่องเล่าในผลิตภัณฑ์ของเรามีความเข้มแข็งและไม่ตกยุค และถึงแม้ผลงานของเขาอาจไม่ใช่งานอุตสาหกรรมที่รองรับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ เขาก็ยังเชื่อว่า เมื่อผลงานถูกเผยแพร่ออกไปผ่านสื่อและการบอกต่อ มันก็มีส่วนสร้างสุนทรียะและแรงบันดาลใจให้คนหมู่มากได้ “ผมคิดว่านักออกแบบ คนทำงานศิลปะ ไปจนถึงแบรนด์สินค้าเชิงสร้างสรรค์ มันมีส่วนทำให้โลกทุกวันนี้น่าอยู่มากขึ้นนะ ถ้าคนที่สนใจแบรนด์ของเราได้ทัศนคติแง่บวกต่อไปได้ นี่จะเป็นแรงขับในการใช้ชีวิต และส่งต่อพลังบวกออกไปสู่สังคมต่อไป” เอก กล่าวทิ้งท้ายPeople – Profit – Planetเริ่มต้นจากการที่ เมย์-ธนิดา ดลธัญพรภคภพ เป็นผู้บริโภคที่ตระหนักว่าสินค้าเครื่องสำอางอย่างลิปบาล์มและอื่น ๆ สร้างภาระให้ธรรมชาติทั้งจากกระบวนการผลิตและขยะจำนวนมาก อีกทั้งเธอยังพบว่าที่ผ่านมา อุตสาหกรรมความงามได้ผลิตขยะจากบรรจุภัณฑ์มากกว่า 120,000 ล้านชิ้นต่อปี เธอจึงคิดถึงวิธีการทำธุรกิจในสิ่งที่เธอชอบอย่างเครื่องสำอาง โดยหลีกเลี่ยงการซ้ำเติมภาระให้โลกมากไปกว่านี้ นั่นทำให้เธอคิดค้นลิปบาล์มออร์แกนิก ปลอดสารเคมี 100% ที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และปลอดกระบวนการที่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม เธอเริ่มทดลองตลาดตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย และภายหลังที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก จึงยกระดับสินค้า และทำแบรนด์ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกในราคาที่คนไทยเอื้อมถึง เข้าวงการธุรกิจอย่างจริงจังหลังเรียนจบก่อตั้งในปี 2562 แบรนด์ IRA (ไอรา) ของเมย์มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “โลกหรือผู้ดูแลโลก” ชื่อดังกล่าวสะท้อนจุดยืนอันเข้มข้นของแบรนด์ ทั้งกระบวนการผลิต และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษย่อยสลายได้แทนพลาสติก รวมถึงการเลือกใช้พลาสติก PCR (Post-Consumer Recycled Plastic) ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่จำเป็น ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของ IRA ครอบคลุมตั้งแต่ลิปบาล์ม ลิปสครับ แป้งพัฟแบบรีฟิลที่ไม่ผสมทัลคัม (Talcum) ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจผู้ใช้ สครับผิว และสเปรย์จัดแต่งทรงผม ทั้งหมดล้วนมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งยังรวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันอื่น ๆ อย่าง ชุดช้อนส้อมที่ผลิตจากฟางข้าวสาลี และกระเป๋าเครื่องสำอางผ้าทอที่ผลิตด้วยศิลปินที่เป็นออทิสติก โดยทั้งหมดยังสะท้อนจุดยืน 3Ps (People, Profit และ Planet) ของแบรนด์ IRA อย่างชัดเจน  “IRA ดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก 3Ps คือ ผู้คน (people) ผลกำไร (profit) และโลกที่เราอาศัย (planet) เพื่อทำให้ธุรกิจนี้มีความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เช่น กระเป๋าเครื่องสำอางที่เราร่วมกับ พิเศษพิสุทธิ์ (Piset Pisut) แบรนด์ไทยที่นำผ้าทอซาโอริจากเชียงใหม่มาเป็นวัตถุดิบ โดยมีน้อง ๆ ที่เป็นออทิสติกเป็นคนทอผ้า ราคาของสินค้าอาจสูงกว่าโรงงานทั่วไป แต่เมย์รู้สึกว่าทุกครั้งที่เราจ่ายเงินออกจะมีใครบางคนที่ได้ประโยชน์” เมย์ กล่าวภาพถ่ายจาก https://www.iranatural.com/ นอกจากนี้ IRA ยังทำงานร่วมกับแบรนด์ กอกก (Korkok) จากจันทบุรี ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตเสื่อกกโดยแม่ครูอาวุโสของชุมชน ซึ่งเมย์ได้นำผลงานทอกกของชุมชนมาทำเป็นกระเป๋า อีกด้วยไม่เพียงความคิดว่าจะทำผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อห่วงโซ่ของชุมชนและสิ่งแวดล้อม การทำการตลาดที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า และการสร้างคอมมูนิตี้ก็เป็นเรื่องที่เมย์ยึดมั่นเรื่อยมานับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ จึงนำมาสู่กิจกรรม One Day with Ira ที่เมย์ชวนลูกค้ามาพบปะกันเดือนละครั้ง เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ร่วมกัน “เมย์มักพูดเสมอว่าเราไม่ได้เป็นคนคิดค้นสินค้า IRA เองเลย ลูกค้าต่างหากที่คิดให้ทั้งหมด และเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ลูกค้าเราน่ารักมากที่เราสามารถโทรไปคุยเป็นชั่วโมง เพื่อรับฟังคำแนะนำอย่างจริงใจ เรียกว่าเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งเลย นั่นทำให้เรากล้าที่จะส่งตัวอย่างสินค้าที่ยังไม่วางจำหน่ายไปให้ทดลองใช้ และขอฟีดแบ็คเช่นเดียวกัน เราวางทิศทางของแบรนด์ให้เป็นเหมือนเพื่อนของผู้บริโภค แลกเปลี่ยน รับฟัง และนำไปพัฒนาต่อ อาจเป็นแนวทางหนึ่งให้คนที่สนใจทำธุรกิจนำไปปรับใช้ได้” เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางที่ล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัล Marketing Leader of The Year (Silver) จาก Marketing Excellence Awards 2023 กล่าวทิ้งท้ายธุรกิจบนสะพานเชื่อมความยั่งยืนปิดท้ายที่ Doister ของ ปุ๊ – สมภพ ยี่จอหอ แบรนด์ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งนักพัฒนาและผู้ประกอบการเชื่อมคนในเมืองให้เข้าถึงคุณค่าจากผลิตภัณฑ์ของชาวชาติพันธุ์บนดอย รวมถึงการท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยเชื่อว่าอัตลักษณ์จากวิถีชาติพันธุ์ก็มีความเฉียบเท่ได้ จึงนำมาสู่การตั้งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม Doister (ดอยสเตอร์) ซึ่งเกิดจากการผสมคำระหว่าง ‘ดอย’ และ ‘ฮิปสเตอร์’ ที่เป็นนิยามเรียกกลุ่มคนทันสมัยในช่วงที่ธุรกิจนี้ก่อตั้ง (ปี 2559)  ควบคู่ไปกับการสร้างแพลตฟอร์มนักสื่อสารเรื่องคนบนดอยให้คนในเมือง อีกหนึ่งโครงการที่ปุ๊นำมาแบ่งปันในงานเสวนาฯ คือธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากชาวชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากที่เขาอยากส่งเสริมผ้าทอที่ยังคงสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนปกาเกอะญอแห่งบ้านห้วยตองก๊อ ตำบลห้วยปูลิง (อำเภอเมือง) และชุมชนเลอเวือะแห่งบ้านป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ (อำเภอแม่สะเรียง) ซึ่งเขาพบข้อจำกัดในการผลิตเป็นสินค้า รวมถึงรูปแบบที่ไม่ได้เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ เช่น สีย้อมผ้าเป็นสีที่สกัดจากพืชพันธุ์ในป่า ซึ่งไม่ได้มีผลผลิตเพื่อนำมาทำสีได้ทุกฤดูกาล เขาและทีมงาน Doister จึงหาวิธีผสานเทคนิคสมัยใหม่ เพื่อยกระดับสินค้าให้มีความคงทน ยั่งยืน และสอดรับกับรสนิยมของคนในเมือง พร้อมทั้งเปิดตลาดให้กับสินค้าจากสองชุมชนเข้าถึงผู้คนในเมือง โดยยังคงรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ภาพถ่ายจาก https://www.facebook.com/doisterwannabe/?locale=th_TH ทั้งนี้ Doister หาได้เพียงแต่เข้ามาช่วยชุมชนในการพัฒนาสินค้าและการทำการตลาด แต่ยังรวมถึงการยกระดับทรัพยากรบุคคล ผ่านการสนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนมีบทบาทเป็นพ่อครู-แม่ครู สอนการย้อมผ้า เพื่อสืบสานภูมิปัญญาให้คนรุ่นใหม่ รวมถึงการสื่อสารเรื่องราวออกไปในวงกว้างผ่านสื่อดิจิทัลและสิ่งพิมพ์ (หนังสือภาพ) เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และผลิตภัณฑ์ “ผมเป็นคนเจนเอ็กซ์ บางมุมมองก็อาจไม่ได้ตรงกับคนรุ่นใหม่นัก แต่ผมเชื่อว่าความต่อเนื่อง หรือ Consistency คือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับงานสื่อสารและการเป็นตัวกลางของธุรกิจชุมชนที่ทำอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการยืนระยะเพื่อสร้าง brand awareness ให้ผู้บริโภค “แน่นอน ในหลายธุรกิจ เราอาจเน้นการทำให้เร็ว ทำให้ไว แต่บางเรื่อง คุณอาจต้องอาศัยเวลาในการลองผิด ลองถูก เรียนรู้จากบทเรียนที่เราได้รับ เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ขณะเดียวกันก็พร้อมปรับตัว หรือปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน” ปุ๊ กล่าวนอกจากนี้ ปุ๊ยังทิ้งท้ายว่า ถึงแม้การสร้างแบรนด์จากตัวตนของนักสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกัน การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการส่งต่อบทบาทสำคัญให้คนรุ่นใหม่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม “จริงอยู่ที่ brand personal เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้บริโภค แต่ในทางกลับกัน เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจไม่ได้ทันโลกไปเสียหมด แบรนด์จึงไม่ควรติดยึดกับตัวบุคคล แต่ต้องเชื่อมโยงกับความต้องการของยุคสมัย ผ่านภาพลักษณ์ที่ชัดเจนที่เราได้สร้างไว้ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นอีกวิธีที่จะทำให้แบรนด์ของเรามีความยั่งยืนทางธุรกิจ”Co-Creative Workshop: Academic Program กิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพแรงงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษาและผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น ด้านการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความยั่งยืน กิจกรรมประกอบด้วยการเสวนาและเวิร์กช็อปการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้า ร่วมกันระหว่างนักเรียน – startups รุ่นใหม่ในเชียงใหม่ กับผู้ประกอบการสร้างสรรค์มากประสบการณ์ระดับประเทศ พร้อมทั้งการเสวนา (Talk Series: “Creative, Design, Technology, and Sustainable”) ที่ช่วยกระตุ้นมุมมองของเหล่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ และเสริมความเข้าใจในด้านการประกอบธุรกิจ โดยผลลัพธ์ของกิจกรรมนี้ ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ การบริการ และโมเดลธุรกิจ จะถูกนำเสนอเป็นหนึ่งในนิทรรศการของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่อาคาร TCDC เชียงใหม่

สำรวจแนวคิด Chiang Mai Design Week 2024 ผ่านมุมมองของ 4 นักสร้างสรรค์ชั้นนำ

SCALING LOCAL: Creativity, Technology, Sustainability คือแนวคิดหลักในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 นี้ เทศกาลที่ชวนทุกคนมาร่วมกันสำรวจศักยภาพของท้องถิ่นในภาคเหนือที่เรามี ก่อนจะหาวิธีต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เข้ากับเทคโนโลยี (Technology) เพื่อทำให้ระบบนิเวศสร้างสรรค์ในบ้านเรามีความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมให้ผลงานจากผู้คนในท้องถิ่นเข้าถึงโอกาสในการเฉิดฉายบนเวทีโลกทั้งนี้ CMDW มีโอกาสพูดคุยกับเหล่าคณะกรรมการคัดเลือกผลงานทั้ง 4 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นนักออกแบบและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ชั้นนำของเมืองไทย ไปดูมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับแนวคิด SCALING LOCAL ทิศทางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภาคเหนือ และภาพรวมในผลงานที่มาร่วมแสดงในเทศกาลปีนี้ไปพร้อมกันงานสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่เรื่องของนักออกแบบและเทคโนโลยีก็ไม่ใช่แค่คนในแวดวง ITวิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ผู้ก่อตั้ง Asiatides Paris และเจ้าของ Wit’s Collection“ในฐานะที่ผมทำ Asiatides ที่เป็นตัวกลางสรรหาสินค้าออกแบบระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อในเอเชียและยุโรปมาหลายสิบปี ผมตระหนักดีว่างานออกแบบของนักสร้างสรรค์ในภาคเหนือเรามีความประณีตและงดงามมาก รวมถึงงานของคนรุ่นใหม่ ๆ ในช่วงหลัง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคืองานหลายชิ้นอาจจะยังไปไม่ถึงผู้ซื้อ ซึ่งอาจด้วยกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างทำได้จำกัด การตลาด หรือขาดตัวกลางที่คอยเชื่อมโยงสินค้าถึงผู้ซื้อ แต่นั่นล่ะ เพราะมันไม่ใช่แค่ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ เราจะขายผลงานของเราออกไปในวงกว้างยังไง …“ในส่วนของภาพรวมของผู้เข้าร่วมเทศกาลปีนี้ ผมคิดว่าเราได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ แต่จะดีมาก ๆ ถ้าสถาบันการศึกษาส่งเสริมให้นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยส่งผลงานมาร่วมแสดงมากกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การทำบอร์ดโครงงาน แต่เป็นการนำไอเดียมาผลิตเป็นผลงานตัวอย่างจริง ๆ ให้ชม สิ่งนี้มันช่วยจุดประกายให้เด็ก ๆ ที่มาดูงานได้เยอะ เพราะเอาเข้าจริง ในเทศกาลฯ เรามีโปรแกรมพวกโชว์เคสของมืออาชีพ เวิร์กช็อป หรือ Business Matching ที่พอสนับสนุนผู้คนในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีพื้นที่แสดงผลงานจากสถาบันการศึกษาเพิ่มขึ้นมามากกว่านี้ เทศกาลฯ จะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ใช่เฉพาะแค่นักศึกษาในภาควิชาออกแบบให้มาสนใจได้ …“ผมว่าหลายคนยังติดภาพว่าเทศกาลออกแบบมันเป็นเรื่องของคนในแวดวงงานออกแบบหรือศิลปะ ขณะที่ดีไซน์วีกในต่างประเทศ เราจะเห็นคนที่มาร่วมแสดงงานมาจากสายวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่นักออกแบบไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร โปรแกรมเมอร์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอื่น ๆ จริงอยู่ที่ชื่อมันคือ Design Week แต่ Design ในที่นี้มันไม่ใช่แค่ Designer แต่เป็นการดีไซน์อะไรก็ตาม ที่มันช่วยให้เราสามารถทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น มีสุนทรียะขึ้น ไปจนถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเราได้ เพราะงานสร้างสรรค์มันไม่ใช่แค่เรื่องของนักออกแบบ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เป็นแนวคิดของเทศกาลในปีนี้ มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องของคนในแวดวง IT แต่มันหมายถึงสิ่งที่แวดล้อมวิถีชีวิตของเราทุกคน”งานคราฟต์ + เทคโนโลยี = ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจอมรเทพ คัชชานนท์ผู้ก่อตั้ง AmoArte และที่ปรึกษา The Design & Objects Association (D&O)“เท่าที่ดูภาพรวมของผู้เข้าร่วมเทศกาลปีนี้ ผมเห็นว่าทิศทางของงานสร้างสรรค์ที่เน้นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน รวมถึงการอธิบายที่มาที่ไปของการใช้วัสดุซึ่งสอดคล้องกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากธีมของเทศกาลปีนี้ ประเด็นด้านเทคโนโลยีอาจยังไม่ค่อยเด่นชัดเท่าใดนัก อาจจะเพราะงานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ในภาคเหนือจะเป็นงานคราฟต์ นักออกแบบเลยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้เท่าใดนัก …“อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ถ้าเรานำมิติด้านเทคโนโลยีมาปรับใช้ อาจไม่ต้องถึงกับเทคโนโลยีขั้นสูงหรือจักรกลโรงงานอะไร แค่เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน ผมว่าสิ่งนี้มันช่วยยกระดับงานคราฟต์ที่มีได้มากเลยนะ ที่พูดแบบนี้ต้องออกตัวว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธการผลิตผลงานด้วยมือในทุกกระบวนการแบบ 100% นะ นี่คือเสน่ห์ของงานสร้างสรรค์ในเชียงใหม่และภาคเหนืออย่างไม่อาจปฏิเสธอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณมองถึงแง่มุมความยั่งยืนด้านอาชีพหรือเศรษฐกิจ ผมว่าการเปิดรับเทคโนโลยีให้มาช่วยด้วยเป็นเรื่องจำเป็น”นวัตกรรมสร้างตัวตนปิยนันท์ มหานุภาพที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ (NOHMEX)“หลายปีหลังมานี้งานออกแบบที่พึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเครื่องพิมพ์สามมิติ หรืองานสร้างสรรค์แนวมัลติมีเดียได้รับความนิยมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามองมากไปกว่านั้น ถ้าเราสนใจในกระบวนการคิดและผลิตเชิงนวัตกรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวัตถุดิบ อาทิ เทคโนโลยีเส้นใยผ้า หรือการนำวัสดุธรรมชาติมาผสานกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้า เหล่านี้มันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานสร้างสรรค์ของเรามีความยูนีคไม่เหมือนใคร และทำให้แบรนด์ของเรามีตัวตนที่ชัดเจน …“ผมยกตัวอย่างแบรนด์หนึ่งที่เขานำเศษใบไม้มาต่อยอดเพื่อการผลิตเป็นวัสดุทดแทนหนัง ขณะเดียวกันเขาก็ได้นำนวัตกรรมนี้ไปจดสิทธิบัตร และนำมาผลิตเป็นสินค้า โดยชูเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ ตรงนี้แหละคือปลายทางของความยั่งยืน เพราะความยั่งยืนมันไม่ใช่เพียงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการที่แบรนด์ของคุณต้องอยู่ให้ได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งสิ่งสำคัญคือแบรนด์คุณต้องมีความโดดเด่น และมีทิศทางที่สอดรับไปกับกระแสของโลก มันอาจจะเริ่มจากแนวคิดเล็ก ๆ ในระดับท้องถิ่น แต่ถ้าธุรกิจคุณอยู่ได้ แบรนด์คุณก็จะเติบโต และถ้าแบรนด์คุณเติบโตโดยมีรากฐานที่ใส่ใจในความยั่งยืน ผมเชื่อว่าสิ่งนี้คือหัวใจของความสำเร็จ”อาจไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่การได้เห็นพัฒนาการระหว่างทางคือสิ่งสำคัญสุเมธ ยอดแก้วเจ้าของค่ายเพลง Minimal Records และอาจารย์ประจำวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่“ดีไซน์วีกปีนี้ผมดูสองส่วน คือเป็นคณะกรรมการพิจารณางานโชว์เคส กับเป็นผู้จัดงาน LABBfest. ที่เป็นอีเวนท์ด้านดนตรีของศิลปินในภาคเหนือ พูดถึงเรื่องแรกก่อน ปีนี้ ผมเห็นว่ามีผู้เข้าทำโชว์เคสหลายรายที่เคยมาร่วมแสดงกับเทศกาลในปีก่อน ๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างน่าสนใจ ทั้งในเชิงการนำเสนอ การทำแบรนด์ดิ้ง ไปจนถึงวิธีคิดในการต่อยอดในเชิงธุรกิจ งานโชว์เคสหลายชิ้นมีกระบวนความคิดในเชิงงานวิจัยทางศิลปะที่เล่นล้อไปกับช่วงเวลา ฤดูกาล บริบทของพื้นที่ หรือความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่เชื่อมโยงผู้ชมให้ไปคิดต่อได้ อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาในมิติด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดหลักของเทศกาล อาจจะต้องมีการนำเสนอหรือต่อยอดให้มากกว่านี้ …“แต่นั่นล่ะ ผมมองว่าดีไซน์วีกหรือเทศกาลด้านความคิดสร้างสรรค์อะไรก็ตามแต่ มันไม่ใช่แค่การนำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการได้เห็นพัฒนาการหรือกระบวนการทำงานของนักสร้างสรรค์แต่ละกลุ่มหรือแต่ละคน เพื่อเป็นบทเรียนหรือเป็นแรงบันดาลใจ การที่เราได้เห็นนักสร้างสรรค์หน้าเดิม ซึ่งมีผลงานที่มีแนวคิดต่างไปจากเดิม หรือมีพัฒนาการกว่าเดิม หรือกระทั่งจุดด้อยที่ถ้ามีการปรับแก้ หรือต้องอาศัยประสบการณ์มากกว่านี้ถึงจะสมบูรณ์ ตรงนี้แหละคือเสน่ห์ของเทศกาลฯ …“ขณะที่งาน LABBfest. ก็เช่นกัน นอกจากในปีนี้ที่เราจะขยายสเกลให้มากขึ้น รวมถึงมีการชักชวนผู้จัดเทศกาลดนตรีในญี่ปุ่นมาดูงานแสดงของศิลปินท้องถิ่น ควบคู่ไปกับโปรโมเตอร์จากค่ายเพลงที่เราเชิญมาอยู่แล้วในงาน 3 ครั้งก่อนหน้านี้ ผมก็หวังว่านี่มันจะเป็นโอกาสให้ศิลปินในบ้านเราได้มีช่องทางเพิ่มมากขึ้น …“ผมว่าทั้งแวดวงนักสร้างสรรค์และวงการดนตรีของเชียงใหม่มีความคล้าย ๆ กันอยู่ ตรงที่เรามีระบบนิเวศด้านพื้นที่และโอกาสค่อนข้างมาก มีคนทำงานฝีมือดี ๆ เยอะแยะ แต่สิ่งที่ขาดคือคาแรกเตอร์หรือความเฉพาะตัวที่ทำให้ผลงานของพวกเขาโดดเด่นหรือแตกต่างกว่าคนอื่น ๆ สิ่งนี้อาจต้องอาศัยประสบการณ์และการขัดเกลา และการได้เห็นผลงานของคนอื่น ๆ ที่จัดแสดงในเทศกาลหรืออีเวนท์ประมาณนี้เยอะ ๆ จะช่วยได้มาก”

SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability

เชียงใหม่คือเมืองที่ขึ้นชื่อในด้านการเป็นศูนย์กลางอันรุ่มรวยของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาเชิงช่าง และความคิดสร้างสรรค์ แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นเรื่องที่ทราบดีว่าเมืองของเรานี้ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายหลากประการที่จำเป็นต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงมลภาวะทางอากาศ ฯลฯ แม้เราไม่อาจรับมือกับสิ่งเหล่านี้ด้วยงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ได้เพียงลำพัง หากเมื่อพวกเราทุกคนในท้องถิ่นได้นำต้นทุนอันเป็นแต้มต่อของเมืองมาเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ต่อยอด และหลอมรวมเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์จึงอาจไม่ใช่เพียงหนทางในการแก้ปัญหาในระดับเมือง แต่ยังรวมถึงการสร้างต้นแบบหรือบทเรียนสำหรับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งในระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับสากล เพื่อเป็นหนึ่งในพื้นที่กลางสำหรับการผสานพลังความร่วมมือ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Design Week จึงได้รับการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี เพื่อเป็นการอัปเดตนวัตกรรมและความร่วมมือของเหล่านักสร้างสรรค์หลากสาขาอาชีพ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับเหล่านักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการจากเมืองอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาส นวัตกรรม และช่องทางธุรกิจให้เติบโตพร้อมกันอย่างยั่งยืน เทศกาลที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability ซึ่งเป็นแนวคิดในการกระชับความร่วมมือของเหล่านักสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในระดับสากล ผ่าน 3 องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต เริ่มจาก Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) ที่เทศกาลฯ ปักหมุดในฐานะทรัพยากรพื้นฐานที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ทรัพยากรที่เกิดจากการสั่งสมภูมิปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมและสุนทรียะอันชาญฉลาดของผู้คนจากรุ่นสู่รุ่นต่อเนื่องกันมาหลายศตวรรษ และเป็นทรัพยากรที่ทางเทศกาลฯ อยากชวนให้ทุกคนย้อนกลับมาสำรวจ ใคร่ครวญ และตระหนักในคุณค่าที่มีอย่างภาคภูมิ Technology (เทคโนโลยี) คือเครื่องมือในการต่อยอดต้นทุนของเมืองไปสู่ศักยภาพที่ยังประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งหาใช่เพียงเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ชีวิต แต่ยังรวมถึงนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาชุมชน สังคม รวมถึงการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเป็นความท้าทายสำคัญระดับนานาชาติในปัจจุบัน ที่สำคัญ นี่ยังเป็นเครื่องมือที่เชื่อมร้อยศักยภาพของเมืองเชียงใหม่สู่การพลิกโฉมทางเศรษฐกิจ และที่ทางที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และ Sustainability (ความยั่งยืน) อันเป็นปลายทางของความร่วมมือระหว่างผู้คน ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ความยั่งยืนอันจะปรากฏทั้งในรูปแบบของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม โอกาสของคนรุ่นใหม่ รวมถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จะถูกร้อยเรียงในฐานะเสาหลักของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 9 วันของเทศกาลในพื้นที่ทั่วเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการงานออกแบบขนาดใหญ่ งานเสวนา เวิร์กช็อป กิจกรรมทางศิลปะ การแสดง ภาพยนตร์ และดนตรี รวมถึงเป็นกรอบความร่วมมือทางธุรกิจในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ทั้งยังเป็นการเน้นย้ำวิธีคิดที่ทางเทศกาลฯ ให้ความสำคัญเสมอมาตลอดหนึ่งทศวรรษ เพราะเราเชื่อว่าความยั่งยืนที่แท้จริงเกิดจากศักยภาพของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราทุกคน มาร่วมกันเฉลิมฉลองพลังสร้างสรรค์ สำรวจและพัฒนานวัตกรรม และจุดประกายให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเมืองเชียงใหม่ให้เฉิดฉายสู่ระดับโลกกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 “SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability” ระหว่างวันที่ 7 – 15 ธันวาคมนี้ ที่เชียงใหม่

ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก CMDW2024

นักสร้างสรรค์คืนถิ่น (ตอนที่ 2)

Homecoming Creators (ตอนที่ 2)ทำความรู้จัก 6 นักสร้างสรรค์คืนถิ่น ผสานความเก่า-ใหม่ เปลี่ยนท้องถิ่นให้ทรงพลัง ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่อัจฉริยา โรจนภิรมย์Kalm Village’s Showcasesอัจฉริยา โรจนภิรมย์ คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Kalm Village หมู่บ้านศิลปหัตถกรรมและงานออกแบบร่วมสมัยใจกลางย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ พื้นที่อันเป็นส่วนผสมระหว่างพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ศิลปะ คาเฟ่ และจุดเช็คอินท่ามกลางงานออกแบบและสถาปัตยกรรมสวยเก๋แห่งนี้ ได้ร่วมกับ CMDW ในปีที่ผ่านมา ในการจัดโชว์เคส 2 งาน ได้แก่ สีสันกับชีวิต: นิทรรศการเฟอร์นิเจอร์ โดย สุวรรณ คงขุนเทียน นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการสร้างสรรค์และตบแต่งเก้าอี้ให้เต็มเปี่ยมไปด้วยแง่มุมทางหัตถศิลป์ที่หลากหลาย และนิทรรศการ Adat & Alam: Weaving the Ancestral Pathway นิทรรศการที่ Kalm Village ร่วมกับ Gerimis Art นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ของช่างฝีมือจากมาเลเซีย นอกจากนี้ Kalm Village ยังมีเวิร์กช็อปสนุกๆ อีกหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่งานออกแบบ งานหัตถกรรม และกาแฟ ซึ่งจัดขึ้นตลอดช่วงเทศกาล “ปีนี้ (CMDW2023) เป็นปีที่สองที่ทางคาล์มวิลเลจจัดงานพร้อมกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ โดยมี 2 นิทรรศการหลัก พร้อมกับกิจกรรม talk และ workshop ที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งในมุมมองร่วมสมัยและพื้นถิ่น ทั้งในภาคเหนือ และต่างประเทศ ซึ่งเราได้รับเกียรติจากศิลปินมาเลเซียมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและผลงาน เราหวังว่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่จะเห็นคุณค่าและแรงบันดาลใจใกล้ตัวในบ้านและเรื่องราวของตนเอง รวมถึงมุมมองจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งมีจุดเชื่อมโยงคุณค่าที่น่าสนใจ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสร้างสรรค์ในแบบฉบับของตัวเอง ทั้งในแง่มุมของความคิดที่หลากหลาย และการผสานความเก่า-ใหม่อย่างลงตัว ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป” อัจฉริยา กล่าว ทำความรู้จัก Kalm Village เพิ่มเติมได้ทาง https://www.kalmvillage.com/     สุพิชา เทศดรุณกิจกรรมดนตรีเปิดหมวก Chiang Mai Busking สุพิชา เทศดรุณ คือศิลปินหัวหน้าวง Suthep Band วงดนตรีจากเชียงใหม่ที่ผสานความเป็นพื้นเมืองภาคเหนือ เข้ากับดนตรีแบบลูกกรุง ลูกทุ่ง และป๊อบ-ร็อคร่วมสมัยอย่างสนุกสนาน นอกจากบทบาทของนักดนตรี เขายังเป็นผู้ก่อตั้ง Chiang Mai Original ซึ่งเป็นทั้งบาร์ดนตรีสด และกลุ่มความร่วมมือที่ขับเคลื่อนแวดวงดนตรีของคนเชียงใหม่ให้มีที่ทางในพื้นที่สาธารณะ ไปพร้อมกับสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของนักดนตรี โดยในเทศกาลฯ นี้ สุพิชาในฐานะกลุ่ม Chiang Mai Original ได้จัดกิจกรรมดนตรีเปิดหมวก Chiang Mai Busking คัดสรรศิลปินท้องถิ่นและศิลปินรับเชิญจากต่างจังหวัดกว่า 30 วง มาทำการแสดงในพื้นที่จัดงานหลักทั้ง 4 พื้นที่ ซึ่งกิจกรรมนี้ยังเป็นหนึ่งในความพยายามของสุพิชาที่จะโปรโมทผลงานเพลงของนักดนตรีท้องถิ่น ไปพร้อมกับใช้เสียงดนตรีสร้างสีสันและความสนุกในพื้นที่สาธารณะ เสริมเสน่ห์ร่วมสมัยให้กับเมืองทั้งเมือง“ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสไปร่วมงาน Busking World Cup in Gwangju ซึ่งเป็นเทศกาลที่เปิดออดิชั่นนักดนตรีเปิดหมวกจากทั่วโลก มาจัดแสดงผลงานตามในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลี เทศกาลนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับนักดนตรีที่ผ่านคัดเลือกจากทั่วโลกให้มาใช้ชีวิต ท่องเที่ยว และเล่นดนตรีเปิดหมวกตามที่ต่างๆ ในเมืองกวางจู เป็นการสร้างเสน่ห์ให้กับเมือง และก็ได้ประชาสัมพันธ์เมืองผ่านโซเชียลมีเดียของนักดนตรีด้วย“ในขณะเดียวกัน ความที่ผมมีความคิดที่อยากโปรโมทวงดนตรีเชียงใหม่ที่มีผลงานเพลงของพวกเขาเองอยู่แล้ว ก็เลยนำโมเดลนี้มาเสนอกับ TCDC เชียงใหม่ จนเกิดเป็นโปรเจกต์ Chiang Mai Busking ในงานดีไซน์วีคปี 2023“ผมมองว่าการแสดงดนตรีสดในพื้นที่สาธารณะ ถ้ามันถูกที่และถูกเวลา มันจะช่วยขับกล่อมและสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเมืองได้ แบบเดียวกับที่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีนักดนตรีเปิดหมวกเก่งๆ มาเล่นมากมาย และภาครัฐก็สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมแบบนี้อย่างเต็มที่ เชียงใหม่เรามีพื้นที่สาธารณะที่เป็นแลนด์มาร์คมากมาย การมีวงดนตรีที่เป็นลูกหลานคนเชียงใหม่และภาคเหนือไปเล่นเนี่ย มันช่วยเสริมบรรยากาศน่าอยู่ความเป็นครีเอทีฟซิตี้ให้กับเมืองของเรา ทั้งยังส่งเสริมพื้นที่สร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น และเอื้อให้เกิดการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างสร้างสรรค์ “ขณะเดียวกัน ผมอยากเปลี่ยนภาพจำของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับนักดนตรีเปิดหมวก ว่าพวกเขาไม่ใช่คนเร่ร่อน หรือคนไร้ฝีมือที่ไม่สามารถไปเล่นดนตรีตามสถานบันเทิงหรือออกอัลบั้มได้ แต่เป็นศิลปินอาชีพจริงๆ ที่รักในความอิสระ รวมถึงสามารถเลี้ยงชีพได้จากความคิดสร้างสรรค์ และเสียงเพลง” สุพิชา กล่าวทำความรู้จัก Chiang Mai Original เพิ่มเติมได้ทาง https://www.facebook.com/chiangmaioriginal/?locale=th_TH อภิชัย เทียนวิไลรัตน์การแสดง Len Yai: Performance Arts อภิชัย เทียนวิไลรัตน์ คือเจ้าของ Little Shelter บูติกโฮเทลสุดฮิปที่นำแรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมล้านนามาออกแบบ จนคว้ารางวัลทางสถาปัตยกรรมระดับโลกมาแล้วมากมาย ทั้งนี้ Little Shelter ยังทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟแพลตฟอร์มสุดเก๋ ผ่านการจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงแรมเป็นแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย ร้านจำหน่ายงานออกแบบของดีไซน์เนอร์ท้องถิ่น และการจัดกิจกรรมที่ชักชวนนักสร้างสรรค์ทั้งท้องถิ่นและต่างชาติมาผลิตผลงานสุดล้ำในพื้นที่ อาทิ การแสดงละครเวที ดนตรี เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ท ไปจนถึงการจัดปาร์ตี้ และทำอาหาร ฯลฯ ในเทศกาลฯ ครั้งนี้ อภิชัย ได้ร่วมกับ ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ จัดงาน Len Yai: Performance Arts ชักชวนศิลปินการแสดงทั้งไทยและต่างชาติกว่า 40 ชีวิต มาร่วมจัดการแสดงสตรีทเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่สอดรับไปกับบริบทของพื้นที่ 8 แห่งในย่านช้างม่อยและท่าแพ ตลอด 9 วันของการจัดงาน CMDW2023“พื้นเพผมเป็นคนจังหวัดลำปาง ทำงานด้านวิศวกรและที่ปรึกษาด้านการก่อสร้างและบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่กรุงเทพฯ จนมีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมมีเหตุให้ต้องกลับมาดูแลครอบครัวที่บ้าน เลยตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจโรงแรมที่เชียงใหม่ อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ผมสนใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัยอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าจะทำโรงแรมก็น่าจะทำให้มันสอดรับกับความสนใจ และมีส่วนในการขับเคลื่อนระบบนิเวศเชิงสร้างสรรค์ของเมืองได้ จึงทำ Little Shelter ที่มีพื้นที่รองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมกัน“ผมสนใจเชียงใหม่ในฐานะเมืองแห่งความหลากหลาย เรามีต้นทุนของการเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมล้านนา ขณะเดียวกัน ด้วยบริบทร่วมสมัย เราก็ดึงดูดผู้คนมากมายจากทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวหรือพักอาศัย จนเกิดเป็นเมืองนานาชาติ และเพราะลักษณะพิเศษแบบนี้ เมืองจึงเต็มไปด้วยนักสร้างสรรค์หลายแขนง ทั้งทางด้านทัศนศิลป์ นักดนตรี หรือศิลปะการแสดง “Len Yai: Performance Arts เป็นโปรเจกต์ที่ผมร่วมกับพี่ชัย (ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์) สำรวจพื้นที่ต่างๆ ในย่านช้างม่อยและท่าแพ พื้นที่ที่หลายคนอาจมองข้ามหรืออาจยังไม่รู้จัก และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นเวทีการแสดงชั่วคราว เพื่อชักชวนให้ผู้คนมองเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ หรือโอกาสใหม่ๆ ของย่าน “และอย่างที่บอก เชียงใหม่เราเต็มไปด้วยนักสร้างสรรค์หลากรุ่นและหลากหลายแขนง ถ้าเรามีพื้นที่และแรงสนับสนุนให้พวกเขาเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง พลังสร้างสรรค์จากพวกเขาจะแปรเปลี่ยนไปสู่เสน่ห์ทางการท่องเที่ยวของเมือง ไปจนถึงแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม” อภิชัย กล่าวทำความรู้จัก Little Shelter เพิ่มเติมได้ทาง https://littleshelterhotel.com/

นักสร้างสรรค์คืนถิ่น (ตอนที่ 1)

Homecoming Creators (ตอนที่ 1)ทำความรู้จัก 6 นักสร้างสรรค์คืนถิ่น ผสานความเก่า-ใหม่ เปลี่ยนท้องถิ่นให้ทรงพลัง ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่หนึ่งในหัวข้อที่ CMDW ไฮไลต์เป็นพิเศษ คือการชักชวนเหล่านักสร้างสรรค์คืนถิ่น (homecoming creators) ให้กลับมายังภูมิลำเนาในเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์โปรแกรมสนุกๆ กับเหล่าช่างฝีมือ ศิลปิน และนักออกแบบท้องถิ่น เพราะเราเชื่อว่า ด้วยมุมมองและประสบการณ์ของกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่ใช้ชีวิตและทำงานในบริบทที่ต่างออกไป เมื่อบวกรวมกับความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับพื้นที่ และความเชี่ยวชาญหลากสาขาของคนท้องถิ่น สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยหนุนเสริมพลังสร้างสรรค์ให้แก่กันและกัน แต่ยังจุดประกายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือ และนี่คือ 6 homecoming creators ที่เราอยากให้คุณรู้จักCOTH Studio (กวิสรา อนันต์ศฤงคาร และเฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์)นิทรรศการหัตถกรรมร่วมรุ่น / สร้าง ผ่าน ซ่อม / ห้องสารภัณฑ์ และความช่างสมัยCOTH Studio คือครีเอทีฟสตูดิโอที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาปนิก นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์นิทรรศการจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ อย่าง กวิสรา อนันต์ศฤงคาร และเฉลิมเกียรติ สมดุลยวาทย์ พวกเขาอยู่เบื้องหลังนิทรรศการด้านการออกแบบเจ๋งๆ มากมาย รวมถึงสร้างความร่วมมือกับเหล่าช่างฝีมือท้องถิ่น เพื่อช่วยกันยกระดับงานหัตถกรรมท้องถิ่น ด้วยแนวคิดและรสนิยมร่วมสมัยที่ตอบโจทย์กับตลาดในระดับสากล Photo Credit: Chiang Mai Design Weekใน CMDW2023 ทีม COTH Studio รับหน้าที่สร้างสรรค์ 3 นิทรรศการด้วยกัน โดยทั้งหมดก็ล้วนสะท้อนแนวคิด Transforming Local ที่เป็นธีมของเทศกาลฯ ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นแพลทฟอร์มกลาง เชื่อมนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ให้ร่วมงานกับช่างฝีมือท้องถิ่น เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนรากเหง้าของพื้นถิ่นในบริบทที่ร่วมสมัยอย่างนิทรรศการ ‘หัตถกรรมร่วมรุ่น’ (Everyday Contem, จัดแสดงที่ TCDC เชียงใหม่) การชักชวนช่างฝีมือมาซ่อมแซมสิ่งของที่เสียหายให้กลับมามีชีวิตและฟังก์ชั่นใหม่ๆ อย่างนิทรรศการ ‘สร้าง ผ่าน ซ่อม’ (Persona of Things จัดแสดงบนชั้น 2 อาคารมัทนา ถนนช้างม่อย) และนิทรรศการ ‘ห้องสารภัณฑ์ และความช่างสมัย’ (Local Cabinets จัดแสดงที่ De Siam Warehouse อำเภอหางดง) ที่เป็นการนำบริบทของพื้นที่ต่างๆ เมืองเชียงใหม่มาเป็นโจทย์ในการยกระดับเฟอร์นิเจอร์ท้องถิ่นสู่งานศิลปะ “เพราะเราเห็นว่าการทำงานในฐานะดีไซเนอร์หรือศิลปินด้วยมุมมองของการเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์ เหมือนเป็น lone wolf เก่งอยู่คนเดียว หลายครั้ง ผลงานที่ออกมามันไม่เวิร์ก เพราะพวกเขาอาจไม่เข้าใจบริบทหรือวัสดุที่ต้องใช้จริงๆ รวมถึงการใช้งานกับพื้นที่เฉพาะอย่างยั่งยืนจริงๆ เราเลยเชื่อว่าการทำงานร่วมกับผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวพันกับชิ้นงานนั้นๆ โดยตรง จะทำให้การออกแบบได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน ทั้งยังสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วม และความภาคภูมิใจให้ทั้งนักสร้างสรรค์และผู้คนในพื้นถิ่น พอมาในโปรเจกต์ Homecoming ในพื้นที่ต่างๆ ที่เราไปสำรวจมาทั่วภาคเหนือ เรามองว่าแต่ละพื้นที่ล้วนมีทรัพยากรที่มีศักยภาพมากมายที่รอให้เกิดการหยิบจับมาต่อยอด แต่การหยิบจับนั้นมันจะน่าสนใจก็ต่อเมื่อทุกคนทำงานร่วมกันแบบ collaboration ดังที่กล่าว พอเราตั้งใจฟังผู้คนในพื้นที่รวมถึงร่วมพัฒนาผลงานด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ออกมา จึงไม่ได้อยู่ในรูปแบบสูตรสำเร็จของงานออกแบบที่เราคุ้นเคย แต่เป็นการได้มาซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สอดรับไปกับพื้นที่ ความเชี่ยวชาญเฉพาะของช่างฝีมือ และการใช้งานจริง เราคิดว่าการแสดงให้เห็นถึงวิธีปฏิบัติแบบนี้อาจช่วยดึงดูดอีกหลายๆ คนที่เชื่อในแนวทางนี้เหมือนกัน” COTH Studio กล่าว ทำความรู้จัก COTH Studio เพิ่มเติมได้ที่ https://www.cothstudio.com/ _______________________ธนัชชา ไชยรินทร์ นิทรรศการ Transforming Local ธนัชชา ไชยรินทร์ เป็นศิลปิน และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนัชชาสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ที่หลากหลาย ทั้งงานประติมากรรม สื่อผสม และศิลปะจัดวาง โดยสนใจประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมจากอดีตสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านความเป็นสมัยใหม่ (modernization) ที่มีผลกระทบต่องานหัตถกรรมพื้นบ้านดั้งเดิม ในเทศกาล CMDW2023 ที่ผ่านมา ธนัชชาได้ร่วมแสดงในนิทรรศการเดี่ยว Transforming Local ที่ TCDC เชียงใหม่ นำเสนอชุดประติมากรรมภายใต้แนวคิด Memento Mori หรือ ‘มรณานุสติ’ ซึ่งเป็น ประติมากรรมภาพเหมือนของสิ่งมีชีวิต ที่ครึ่งหนึ่งของมันเผยให้เห็นเนื้อหนังของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ตามปกติ หากแต่อีกครึ่งเป็นการสลักเสลา ‘เนื้อใน’ ของสิ่งนั้นๆ จนเผยให้เห็นกระดูก หรือโครงสร้างภายในอย่างน่าทึ่ง Photo Credit: Chiang Mai Design Week“พื้นเพเราเป็นคนเชียงใหม่ และมีโอกาสคลุกคลีกับช่างฝีมือโดยเฉพาะช่างแกะสลักไม้มาเนิ่นนาน เราเห็นคุณค่าของภูมิปัญญานี้ในฐานะทุนทางวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะตัว เท่าๆ กับที่ตระหนักดีว่าด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน ภูมิปัญญานี้กำลังจะสูญหายไป ในนิทรรศการนี้ เราจึงไปยังหมู่บ้านหัตถกรรมต่างๆ ในเชียงใหม่ เพื่อรวบรวมวัตถุสิ่งของและไม้แกะสลักตามหมู่บ้าน มาแกะคว้านครึ่งหนึ่งของพวกมันภายใต้แนวคิด Memento Mori ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการอุทิศถึงคุณค่าจริงๆ ของสิ่งของเหล่านั้นในห้วงเวลาที่มันกำลังจะเลือนหายไปจากยุคสมัย แต่ยังเป็นความพยายามในการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของงานหัตถกรรม ด้วยมุมมองแปลกต่าง แต่สอดรับกับยุคสมัย” ธนัชชา กล่าวทำความรู้จักธนัชชา ไชยรินทร์ เพิ่มเติมได้ทาง https://thanatchachairin.wixsite.com/website?fbclid=IwAR3t1cJtNIFvDMP9siaNeMYmOsVbgmRqHVVN7FA1e-mnB1Uq-rQdp-uX1VU _______________________วิทยา จันมา นิทรรศการ Sound Momentวิทยา จันมา เป็นศิลปินแนว interactive installation ที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมากมาย เขาเป็นศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ที่ต่อยอดงานไฟน์อาร์ทสู่งานดิจิทัลอาร์ท ที่ชวนให้ผู้ชมเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับชมทั้งภาพ เสียง และสัมผัส จนสร้างชื่อในระดับสากล โดยในเทศกาลฯ นี้ วิทยามากับนิทรรศการ Sound Moment นำเสนอผลงานภาพเคลื่อนไหวพร้อมซาวด์ประกอบจากแผ่นเสียง ที่มีการสลักลวดลายเฉพาะตัวลงบนแผ่นไวนิล อันสื่อถึงบริบทของความเป็นท้องถิ่นภาคเหนือ Photo Credit: Chiang Mai Design Weekทั้งนี้ วิทยายังได้เชิญชวนผู้ชมให้เลือกแผ่นเสียงที่เตรียมไว้มาเล่นในเครื่องเล่นสองเครื่อง เมื่อเครื่องเล่นทำงาน กล้องที่บันทึกภาพจานหมุนจะส่งภาพเคลื่อนไหวลงบนกำแพง พร้อมกับ sync ลวดลายและเสียงจากทั้งสองแผ่นเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นงานอนิเมชั่นที่ผู้ชมสามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง โดยนิทรรศการ Sound Moment จัดแสดงที่ชั้น 1 ธน-อาคาร (Thana-Arkarn Building) ถนนราชวงศ์ ในปีที่ผ่านมา“ทั้งภาพที่ผมสร้างสรรค์ลงบนแผ่นไวนิล และเสียงที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่นของภาคเหนือที่ผมเติบโตและร่ำเรียนมา ไม่ว่าจะเป็นนกหรือดอกไม้ท้องถิ่น หรือการบันทึกเสียงจากในป่า และบรรยากาศตามพื้นที่ต่างๆ ผมมองว่าองค์ประกอบที่ผมเลือกมา ไม่ว่าจะเป็นเสียงนก หรือเสียงฝน ล้วนเป็นสิ่งที่คนภาคเหนือคุ้นชินอยู่แล้ว แต่เรากลับมองข้ามไป เพราะมันอาจจะใกล้ตัวเราจนเกินไปจนอาจละเลยคุณค่า แต่ในทางกลับกัน องค์ประกอบที่ดูธรรมดาเหล่านี้ ก็ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่รอให้คนในท้องถิ่นหยิบจับมาสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ ไม่สิ้นสุด นิทรรศการ Sound Moment คือความพยายามชวนให้ทุกคนย้อนกลับมาสำรวจต้นทุนที่อยู่รอบตัวเรา และแค่เปลี่ยนมุมที่มองสิ่งเหล่านี้ไปสักนิด คุณอาจได้พบศักยภาพอะไรใหม่ๆ ที่ซึ่งภูมิภาคอื่นๆ ไม่มีก็เป็นได้ครับ” วิทยา กล่าว ทำความรู้จัก วิทยา จันมา เพิ่มเติมได้ทาง http://www.witayajunma.com/ และอย่าพลาดปลายปีนี้ เตรียมขึ้นเหนือมาร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 1 ทศวรรษ “Chiang Mai Design Week” ไปด้วยกัน กับ “เทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2567” (Chiang Mai Design Week 2024) ที่ครั้งนี้ เทศกาลฯ ได้เดินทางมาถึงปีที่ 10 แล้ว ภายใต้แนวคิด “𝗦𝗖𝗔𝗟𝗜𝗡𝗚 𝗟𝗢𝗖𝗔𝗟: 𝗖𝗿𝗲𝗮𝘁𝗶𝘃𝗶𝘁𝘆, 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗻𝗼𝗹𝗼𝗴𝘆 𝗮𝗻𝗱 𝗦𝘂𝘀𝘁𝗮𝗶𝗻𝗮𝗯𝗶𝗹𝗶𝘁𝘆” แล้วพบกันวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567!

Business Program: Several Ways of Growing Your Business

‘Business Program’ คือโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อต่อยอดศักยภาพและความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ด้วยการเชื่อมโยงผู้ซื้อกับผู้ผลิต และนักสร้างสรรค์ให้ได้มาพบปะเจรจาธุรกิจ เปลี่ยนความต้องการเป็นรายได้ เพิ่มช่องทางการขาย ขยายกลุ่มลูกค้า และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างสองขั้วอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาโปรเจ็กต์ล้ำ ๆ ผ่านเครื่องมือหลักอย่าง Business Matching, Studio Visit, LABBfest., Local Talent และการร่วมมือกับ Mango Art Festival เพื่อสร้างกลไกสนับสนุนที่เปิดโอกาสให้ทุกความคิดและจินตนาการสามารถค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ในโลกของธุรกิจสร้างสรรค์Business Matching เครื่องมือยอดฮิตติดปีกธุรกิจให้พร้อมบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ โดย Business Matching ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ต้องการเป็นพื้นที่จับคู่ธุรกิจให้ผู้ประกอบการด้านงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) งานออกแบบ (Design) และผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ทั่วภาคเหนือได้นำเสนอสินค้าและบริการให้กับผู้ซื้อและผู้ใช้งานจริง ควบคู่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสร้างเครือข่ายความร่วมมือ รวมถึงเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ลาว ไต้หวัน ญี่ปุ่น สกอตแลนด์ และรัสเซีย เพื่อโอกาสต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต Studio Visit เครื่องมือที่จะพากลุ่มผู้ซื้อคุณภาพสูง และเครือข่ายนักสร้างสรรค์ จากทั้งในไทย และต่างประเทศ ไปเยี่ยมชมแหล่งผลิตหัตถอุตสาหกรรมและสตูดิโอศิลปะ สำรวจวิธีคิด กระบวนสร้างสรรค์ผลงาน เห็นศักยภาพและความพร้อมในการผลิตผลงานสู่ลูกค้า ไม่ว่าจะรายใหญ่แบบจำนวนมาก (Mass Production) หรือรายย่อยแบบตามคำสั่งซื้อ (Made To Order) พร้อมแลกเปลี่ยนพูดคุยทำความรู้จักกับผู้ประกอบการให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น ก่อนตบท้ายด้วยกิจกรรมเจรจาธุรกิจที่จะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและต่อยอดไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ ร่วมกันในบรรยากาศสุดเอ็กซ์คลูซีฟLABBfest. เครื่องมือสนับสนุนเวทีแสดงความสามารถให้เหล่าศิลปินในเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน ทั้งศิลปินอิสระและนักดนตรีอาชีพไม่จำกัดแนวเพลงที่มีผลงานเพลงของตัวเองได้มาโชว์ฝีมือและนำเสนอผลงาน ท่ามกลางบรรดาผู้ฟัง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดนตรี และโปรโมเตอร์ค่ายเพลงระดับหัวแถวของเมืองไทยและต่างประเทศ อาทิ เมียนมา ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงผู้จัดเทศกาลดนตรี อย่าง Big Mountain หรือ Monster Music Festival ซึ่งจะมาร่วมเปิดโสตประสาทรับเสพความหลากหลายของซาวด์ดนตรีสดใหม่ พร้อมคัดเลือกวงที่โดนใจไปโชว์ความสามารถกันต่อบนเวทีเทศกาลดนตรีชื่อดังทั่วไทยยันชิมลางบนเวทีคอนเสิร์ตต่างแดน นอกจากนี้ยังเป็นเสมือนพื้นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรีกับคนดนตรีจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่มาร่วมแจม เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมดนตรีในภาคเหนือตอนบนพัฒนาไปสู่ระดับประเทศและนานาชาติLocal Talent เครื่องมือสร้างโอกาสการพบปะเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ว่าจ้างกับกลุ่มนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ที่กำลังมองหาเส้นทางการเติบโต พัฒนาทักษะความสามารถ และร่วมงานกับแบรนด์ที่ใฝ่ฝันในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในท้องถิ่นหลากหลายสาขา อาทิ งานออกแบบเครื่องปั้นดินเผา แฟชั่นและสิ่งทอ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงปลุกปั้นไอเดียเจ๋ง ๆ ให้เป็นจริง สำหรับกลุ่ม Next Generation และกลุ่ม Homecoming ในพื้นที่ภาคเหนือ Mango Art Festival เครื่องมือฉายศักยภาพของบรรดาศิลปินท้องถิ่นภาคเหนือ โดยจับมือกับ Mango Art Fest เทศกาลสร้างสรรค์พื้นที่นำเสนอผลงานศิลปะของศิลปินท้องถิ่นภาคเหนือ สำหรับการเจรจาติดต่อระหว่างศิลปิน แกลเลอรี องค์กรทางศิลปะ แบรนด์สินค้า เรื่อยไปจนธุรกิจที่พักและโรงแรมในเครือชั้นนำระดับโลก ซึ่งในปีนี้ทางเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ พร้อมด้วยคิวเรเตอร์มากประสบการณ์ยังคงเฟ้นหาผลงานศิลปะและงานออกแบบกึ่งศิลปะที่มีเอกลักษณ์ น่าจับตามอง ไปร่วมจัดแสดงภายในงาน Mango Art Fest อีกเช่นเคย เพื่อส่งเสริมวงการศิลปะในภาคเหนือและผลักดันผลงานของเหล่าศิลปินท้องถิ่นรวมถึงศิลปินหน้าใหม่ให้ออกไปสู่สายตาผู้สนใจในวงกว้างมากยิ่งขึ้น